shelldom


สวัสดีค่ะ ผู้สนใจติดตามข้อมูลข่าวสารของกลุ่มจิตตปัญญาวิถีทุกท่าน



หากท่านมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะใดๆ กรุณาเขียนอีเมลมายัง jittapanyavithi@gmail.com

(-: ขอบพระคุณค่ะ :-)
Pen
โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2552

งานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ “ทางเลือก หรือ ทางรอดของสังคม?” โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นงานที่ใช้กระบวนกร/วิทยากรมากที่สุดงานหนึ่ง นับรายชื่อศิลปิน นักปฏิบัติ นักคิด นักวิชาการที่ขึ้นเวทีสุนทรียสนทนา ปาฐกถา นำเสนอผลงาน จัดกระบวนการ ขับขานดนตรี อ่านบทกวี ในสองวัน ได้มากกว่า ๙๐ คน ต่างมาร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความหมาย รายละเอียด วิธีการ และรสชาติของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาตามความเข้าใจ ตามการใช้ชีวิตของตนเอง

งานประติมากรรมทางสังคมที่เกิดจากการถักทอเชื่อมร้อยการเดินทางของคนเหล่านี้ มีลักษณะ ร่วมกันที่สำคัญ คือ การช้าลง เข้าไปสัมผัสปัจจุบันขณะตรงๆ ผ่านงานผ่านการใช้ชีวิต ด้วยใจที่เปิดรับ และแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆ ร่วมกัน

หัวใจ คือ การไปพ้นจากความคิด




อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ระยะหลัง นานๆ จะปรากฏตัวต่อสาธารณะสักที มองเรื่องจิตตปัญญาผ่านมุมมองของวิภาษวิธี (Dialectic) เทียบเคียงกับความเชื่อทางพุทธ ว่าไม่ใช่เอา anti -thesis ไปท้าสู้กับ thesis แต่ต้องใช้ synthesis ซึ่งในตัวมันมีลักษณะที่ทั้งใช่และไม่ใช่ thesis และ anti-thesis อยู่ด้วยแล้ว

ต้องข้ามพ้นเครื่องมือเก่า คือ ความคิด ไปเสีย ดังนั้น “วิธีจัดการความขัดแย้งภายใน ไม่ได้ทำโดยการเอาความคิดเรื่องการไม่มีตัวตนไปสู้กับความคิดเรื่องการมีตัว ตน หากเอา ‘การไม่คิด’ เข้าไปแทนที่ ‘การคิด’ เสียมากกว่า”

งานนี้จึงอุดมไปด้วยผู้ที่มานำเวิร์คชอป จัดกระบวนการมากมาย แบ่งปันตัวอย่างช่องทางการเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ผ่านงานอันหลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม อาทิ การตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตน (โดยกลุ่มจิตตปัญญาวิถี สถาบันขวัญแผ่นดิน) การภาวนา (เสถียรธรรมสถาน) การจัดดอกไม้และใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ (มูลนิธิเอ็มโอเอไทย) จิตอาสา (เครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิพุทธฉือจี้) การรักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ (สถาบันปลูกรัก) และอื่นๆ อีกมาก

เวทีสุนทรียสนทนา หัวข้อ “กล้าที่จะเลือก” มีตัวอย่างของคนที่อยู่ทั้งในและนอกระบบ แต่ก็กล้าที่จะ “ขบถ” เลือกวิธีการเดินทางของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมันแตกต่างแปลกแยกจากมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานองค์กร มาตรฐานสังคม หรือแม้กระทั่งมาตรฐาน “สากล” ที่สถาบันต่างๆ มักวิ่งตามกันอยู่

“ยิ่งมีรายละเอียดในความคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความขัดแย้งในใจมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผมออกจากความคิด ... มาอยู่กับตัวเองง่ายๆ ไม่มีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับคนอื่น จึงไม่มีความขัดแย้งกับธรรมชาติ” อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เขียนหนังสือ เดินสู่อิสรภาพ สะท้อนประสบการณ์กล้าที่จะเลือก และกล้าที่จะหยุดเอาไว้ในวงสุนทรียสนทนานี้

แล้วชาวจิตตปัญญา กล้าที่จะเลือกหรือยัง?

ใน “ปัญญาสู่ทางรอด” เวทีสุนทรียสนทนาปิดงาน อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ อธิบายว่าปัญญาเพื่ออยู่รอดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายด้วย ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับฐานกาย (มวยจีน โยคะ ชี่กง) ฐานใจ (ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึก) นอกเหนือไปจากฐานคิด

“คนเรามีสมอง ใจ กาย แต่ทุกวันนี้เราหมดเวลาไปกับการคิด การเรียน” อาจารย์ฟันธงเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

อาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ประมวล และอาจารย์วรภัทร์ อาจารย์ทั้งสามได้มาดำรงอยู่ร่วมกันในเวทีแห่งนี้ ต่างคนก็ราวกับว่ามีวิถีของชีวิตที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน ทว่าลึกลงไปแล้วทั้งสามล้วนมิได้ผิดแผกแตกต่างกัน มีการเดินทางด้านในร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางที่เฉพาะตนไม่เหมือนกัน

ทุกคนล้วนเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณ และหนทางสายนี้ได้เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ (The path is the goal) อันมีหัวใจร่วมกัน

วันหน้าหากมีใครถามนิยามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ผมอาจจะตอบว่า “จิตตปัญญาเป็นวิชาสิ้นคิด” ไง :-)

Pen

โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552

ในชีวิตของคนเราล้วนเต็มไปด้วยคำถาม นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในเวลาเช้า เรานึกขึ้นในใจทันทีว่า “นี่มันกี่โมงแล้วนะ?” แม้ในระหว่างอาบน้ำแต่งตัวก็ยังไม่วายได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “วันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนสีอะไรดี?” จนช่วงเพลินๆ ระหว่างการเดินทางไปทำงาน ในใจพลอยคิดไปแล้วว่า “งานที่ยังทำค้างอยู่จะเร่งให้เสร็จทันวันนี้ไหม?” “เช้านี้จะส่งลูกไปทันเวลาไม๊นะ?” ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะสิ้นปี มักมีคำถามทำนองว่า “จะได้ขึ้นเงินเดือนสักเท่าไหร่?” หรือ “อนาคตการงานของเราจะไปได้ในในบริษัทนี้หรือเปล่า?” จนเย็นทำงานเลิกค่ำเรายังมีคำถาม “ทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไมกัน?” หรือบางครั้งก็เป็นคำถามที่มาตามสถานการณ์แต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตกลงจะซื้อบ้านดีไหม? โรคที่เป็นควรจะผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่น? ไปเรียนต่อดีไหม?



คำถามเหล่านี้ล้วนมีระดับความยากง่ายและความซับซ้อนของเรื่องราวต่างกันไป บางคำถามก็อยู่ในภาวะที่เราต้องตัดสินใจลงมือกับสถานการณ์ตรงหน้า บางคำถามเป็นแค่เรื่องที่ต้องคิดอย่างเป็นประจำทุกวัน เป็นคำถามที่ตัดสินใจตอบหรือเลือกแล้วก็จบกันไปในแต่ละครั้ง แต่ว่าบางคำถามกลับยังซุกซ่อนและวนเวียนในใจ และคำถามเช่นนี้ก็มีพลังในการผลักดันการตัดสินใจ การเลือกใช้ชีวิตของเราเอง

ในการฝึกอบรมด้วยกระบวนการแบบจิตตปัญญาซึ่งเน้นการมีสติ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ผมและเพื่อนกระบวนกรมักจัดกิจกรรม “คำถามสำคัญ” ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทบทวนว่า
อะไรคือคำถามสำคัญในการเดินทางของชีวิต อะไรคือคำถามที่ผลักดันหรือ drive ชีวิตเขา หรืออาจจะพูดได้ว่า ชีวิตของเขาที่ดำเนินอยู่นี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามอะไร

เมื่อทุกคนได้แบ่งปัน อ่านคำถามของตนทีละคน เราได้ยินทั้งคำถามที่ดูเรียบง่าย เช่น “ทำงานไปเพื่ออะไร” มีคำถามที่เป็นเรื่องของครอบครัว เช่น “ฉันจะดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร” “ลูกจะเป็นยังไงบ้างในตอนนี้” “ฉันจะหาสมดุลของชีวิตงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างไร” ไปจนถึงคำถามที่พยายามสืบค้นหาความหมายของชีวิต เช่น “อะไรคือความสุขของชีวิต” “เราเกิดมาทำไม” “เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราคืออะไร”

คำถามหลากหลายเหล่านี้ล้วนถูกเอ่ยออกมาจากปากของผู้คนทุกแบบทุกระดับนับแต่ ลูกจ้างชั่วคราว ครูอาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารผู้นำองค์กร แม้ถ้อยคำจะดูแตกต่างกันมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเราล้วนคล้ายคลึงกันเหลือเกิน สิ่งที่เราครุ่นคิดคำนึงถึงล้วนผูกพันกับชีวิตและการดำรงอยู่ของแต่ละคน อย่างยิ่ง

ช่วงเวลาการรับฟังคำถามสำคัญของเพื่อนร่วมองค์กร เพื่อนร่วมทางเดินชีวิตนี้ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม ทรงพลัง และน่าทึ่ง เราต่างร่วมเป็นประจักษ์พยานในการเผยถึงคำถามสำคัญในชีวิตของตน

แม้ว่าการอบรมหลายครั้งจะมีผู้เข้าร่วมมาจากองค์กรเดียวกัน มีความคุ้นเคยกันดี แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เราทุกคนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้งในมิติแง่งามที่ หลากหลายต่างกันและทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นไปทุกครั้ง ได้เข้าใจกันว่าทำไมแต่ละคนถึงเป็นเช่นนั้น และไม่เพียงรู้จักผู้อื่น เรายังได้รู้จักตัวของเรามากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากคำถามสำคัญในชีวิตของเรานี้เอง

หลังจากนั้น ผมมักอ่านตัวอย่างคำถามสำคัญในชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากชั้นเรียน ที่ผมใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่น “จบแล้วทำอะไร ไปไหน?” “ทำไมถึงต้องมานั่งเรียนหนักขนาดนี้ ผลักดันตัวเองไปทำไม?” “สิ่งที่เราเลือกและทำจะเป็นที่พอใจของพ่อแม่รึป่าว?” “ทำอย่างไรชีวิตถึงจะมีความสุข?” เราเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนไม่ว่าคำถามของคนในวัยทำงานหรือคำถามของนักศึกษา ก็ไม่ต่างกัน
ไม่มีคำถามไหนที่ผิด เล็กเกินไป ไม่มีความหมาย หรือไม่มีความสำคัญ ล้วนเป็นคำถามที่ “จริง” ทั้งสิ้น

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่มีความหมาย ผู้เรียนให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากไปโรงเรียน อยากไปมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษารักและตั้งใจในการเรียน ก็ต่อเมื่อการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่ทำให้เขาเพียงแค่เรียนเพื่อสอบ

งานจะเป็นงานที่มีความหมาย คนทำงานให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นแล้วอยากไปที่ทำงาน ทำให้เขารักและตั้งใจในการทำงาน ก็ต่อเมื่องานนั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาเช่นกัน ไม่ใช่ทำให้เขาทำงานเพียงเพื่อหาเงินเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้และการทำงานแบบจิตตปัญญาที่มีความหมาย จึงต้องเป็นกระบวนการที่เข้าไปดูแล (address) มีความสัมพันธ์ (relate) เชื่อมโยง (connect) หรือทำความชัดเจน (clarify) ให้แก่คำถามสำคัญที่ผลักดันการดำเนินชีวิตของเรา ... แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญของเราในตอนนี้ก็ตาม

Pen


Pen


โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา ContemplativeEducation@yahoo.com
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒

“ไม่ ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ทึ่งในตัวอาจารย์มาก ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตนเองต้องการเป็นแบบไหน” (อรรถพล อ.)




“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” ผมนึกถึงสำนวนนิยายจีนของโกวเล้ง

ภาคการศึกษานี้ อาจจะเป็นภาคการศึกษาสุดท้ายของผมในการเลกเชอร์ให้กับนักศึกษาปีหนึ่ง ของมหิดล การสอนบรรยายให้นักศึกษาห้องละสองร้อยกว่าคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เบื่อกันทั้งคนสอนและคนเรียน ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะ กับระบบการศึกษาที่ท่องไปเพื่อคะแนน เรียนไปเพื่อสอบ

แต่
สำหรับผมแล้ว การไปสอนเลกเชอร์เป็นการเติมเต็มความหมายของชีวิต การได้เปลี่ยนบทบาทจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เคยนั่งหันหน้าหากระดานดำ เรียนบ้าง จดบ้าง คุยบ้าง หลับบ้าง แอบกินขนมบ้าง กลับมายืนหน้าห้องบรรยายห้องเดิม แต่ครั้งนี้หันหน้าไปทางหลังห้อง เหมือนมองย้อนกลับไปจนเห็นตนเองในอดีต มันเปรียบดั่งการจาริกไปสู่ต้นกำเนิดแห่งตัวตนของผมเอง

ไม่มีวันไหนแม้แต่วันเดียวที่ไม่อยากไปสอน ฝนตก แดดออก รถติด ถนนว่าง วันเดินทางไปศาลายาเป็นวันที่ตื่นเต้น อุดมไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่มีสองวันไหนที่เหมือนกันเลย

ยิ่งปีสุดท้ายปีนี้ด้วยแล้ว เลกเชอร์แต่ละครั้งยิ่งมีความหมายกับผมอย่างมาก

ผมรู้ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าผลจะออกมาอย่างไร และการที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนี่ด้วยกระมังที่ทำให้มันน่า ตื่นเต้นเข้าไปใหญ่

คืนก่อนหน้า ผมมักจะนั่งทำ PowerPoint อย่างบรรจง เตรียมเล่าข่าวสดๆ ทันเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา เลือกรูป เลือกสไลด์ เลือกคลิปด้วยความพิถีพิถัน จนบางทีสงสัยว่าย้ำคิดย้ำทำเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อคิดว่ากับช่วงเวลาสั้นๆ ๖ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง แต่ละนาทีนับว่ามีความหมายไม่น้อย

อันที่จริง ๑๒ ชั่วโมง กับเนื้อหา ๑๑ บท ๑๙๘ หน้าแล้ว มันง่ายมากเลย ที่คนสอนอย่างเราๆ จะเดินทางเข้าสู่ร่องของการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเราเป็นนิสิต นักศึกษาเอง เพราะลำพังแค่สรุปเนื้อหาในหนังสือมาสอนก็แทบจะไม่ทันแล้ว
“ไม่ใช่แต่ พูดๆ ไปตามหนังสือ พอเสร็จ เด็กก็ไปคายๆๆ ในห้องสอบ ใครจำได้มากได้คะแนนมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่” (รหัส 520517X)

หรือว่าเราต้องเชื่อว่านักศึกษาเขาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ หากว่าเขาต้องการ ถ้าเช่นนั้น ความท้าทายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามอัดหรือยัดเนื้อหาให้ได้มากที่ สุด แต่อยู่ที่การทำให้เขาเห็นคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ ความน่าทึ่ง ในโอกาสและวิชาที่อยู่เบื้องหน้าเขา

หากเราเชื่อในเจตจำนงอิสระของมนุษย์แต่ละคน และสามารถโยงสิ่งที่เขาเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ก็คงไม่ต้องขู่เข็ญใครให้มาเข้าเรียน รวมไปถึงบังคับข่มขู่ด้วยระบบคะแนน

ผมสนุกกับการ
สร้างความหมายใหม่ให้กับวิชาชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ และการมีชีวิต ร่วมกันไปกับรุ่นน้องคณะ เชื้อเชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา ความเป็นมนุษย์กลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง (โดยไม่ได้พูดถึงคำว่า จิตตปัญญาศึกษา, Contemplative Education หรือ Humanized Educare เลย) เชิญชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียน วิธีการที่เขาเรียน และเป้าหมายของการเรียนของเขา (สไลด์แรกสุดคือคำถามว่า “จะเรียนไป ... ทำไม?”)

แน่นอน นักศึกษาจะรู้สึกงงๆ ในตอนต้น

“แรกๆ ผมก็โดด คิดว่าไปอ่านเองแล้วจะได้อะไรมากกว่า แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้า [เรียน] ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าโดดเลย อาจารย์สอนอะไรมากกว่าในหนังสืออีก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

ทุกครั้ง ก่อนหมดคาบ ๑๐ นาที ผมให้ทุกคนเขียนสะท้อนว่า ๑) สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่เขารู้สึก “โดน” ที่สุดในวันนั้นคืออะไร และ ๒) เขามีอะไรที่อยากจะถาม/รู้/บอก/แนะนำ แต่ละสัปดาห์ผมจึงมีกระดาษสองร้อยกว่าแผ่นกลับบ้าน ผมอ่านทุกใบด้วยความสนใจใคร่รู้ อยากรู้จักแต่ละคน อยากเข้าใจในที่มาของแต่ละคน ผมคัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อมาอ่านตอนต้นชั่วโมงถัดไป ทั้งข้อคิดเห็น คำบ่น คำแซว คำชม โดยเฉพาะคำถาม ซึ่งผมมักตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง
“อย่าฆ่าคำถามดีๆ ของเขา ด้วยคำตอบห่วยๆ ของเรา” ผมเตือนตนเอง

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ผมชวนนักศึกษาทำ Intuitive Writing ให้เขาได้แบ่งปัน “อะไรก็ได้” เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนที่ผ่านมา การเขียนนี้ไม่มีผลต่อคะแนน และไม่จำเป็นต้องลงชื่อ

คำแนะนำสั้นๆ ของผม คือ เขียนโดยไม่หยุด ไม่ยกปากกาขึ้น เขียนไปเรื่อยๆ หากนึกไม่ออก ก็เขียน “นึกไม่ออก นึกไม่ออก” สบายๆ ผ่อนคลาย ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที

สิบนาทีสั้นๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายสำหรับผม สัมผัสรับรู้ได้ว่าทำไมมีนักศึกษาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

“At first, I thought that there was nothing interesting in sitting and studying in the room. Though it was freaking hard waking up in the morning, walking to the [Lecture Hall], but I did it with cheering ’cause it was Monday, the day I get to study Biology with you. ... There are lots of things out there waiting to be explored, but I just ... waste my time fooling around on the internet. Your words are like wake up calls to me. ... Thank you for everything. You’re such a heaven-sent. I’m honored.” (ภัทราวรรณ พ.)

“อาจารย์ เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

“การ ได้เรียนรู้แนวการเรียนที่มันแตกต่างออกไป มันทำให้เราได้คิดย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเรียนเราเรียนไป เพื่ออะไร เพื่อเอาไปทำอะไร แล้วมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัวของเราอย่างไร ทั้งคน-สัตว์และพืช (สิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น แต่เรากลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ทำให้เราไม่รู้จักพอ” (โฆษิต ฐ.)

“เป็น ประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ การเรียนชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในมุมมองของคนที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพ อย่างผมนี้” (พิษณุ บ.)

“แท้ จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ แม้ว่าจะได้เจออาจารย์เพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจและภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ หนูจะใช้เวลาอีก 3 ปี+1 เทอมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีคุณค่ามากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ใน ห้องเรียน ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอย่างเต็มภาคภูมิ หนูสัญญาว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเหมือนอย่างที่อาจารย์เป็น จะไม่เอาความรู้ที่เรามีไปเอาเปรียบใคร ... ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับการเรียนใน 6 ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจ และขอบคุณจากใจค่ะ” (520517X)

“ก็ ไม่รู้สิ มีอะไรอยากบอกมากกว่านี้ตั้งมากมาย แต่ก็นะ บอกไม่หมดหรอก ขอบคุณล่ะกันครับ ความรู้สึกที่มากที่สุดตอนนี้คงเป็นคำว่า ขอบคุณ” (อรรถพล อ.)




ใช่เลย ความรู้สึกเด่นชัดที่สุดของผมขณะนี้ คือ ขอบคุณ ขอบคุณเหล่านักเดินทางรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในโลกใบกว้าง พร้อมๆ กับเดินทางเข้าไปในใจในกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน ดังเช่นที่ สาทิศ กุมารเคยกล่าวไว้ “มีเธอ จึงมีฉัน”

ชวนให้ผมนึกถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยิ่งใหญ่ในโลก โดยเฉพาะการเดินทางของคานธี ไปทำเกลือทะเลที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดีย การเดินทางโดยปราศจากเงินแม้เพียงรูปีเดียว ของสาทิศ กุมารจากอินเดียไปยุโรปและอเมริกา เพื่อส่งมอบ “ชาสันติภาพ” แก่ผู้นำประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รวมถึงการเดินทางของประมวล เพ็งจันทร์ อันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

การเดินทางเล็กๆ ในชั้นเรียน แม้จะไม่โด่งดังและยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางเหล่านั้น แต่ก็ “จริง” อย่างยิ่งสำหรับบรรดาเหล่านักเดินทางรุ่นใหม่
เป็น ดั่งคำเชื้อเชิญให้เปิดใจ เรียนรู้ และออกเดินทางสู่การตื่นรู้ ในวิถีที่ไม่แยกเป้าหมายทางวิชาชีพ (professional quest) ออกจาก เป้าหมายทางจิตวิญญาณ (spiritual quest)

ชั้นเรียนของเราอาจจะจบแล้ว แต่การเดินทางของเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้

ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางบทใหม่ครับ :-)
Pen


โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

ราว 2 ปีที่ผ่านมา เราหลายคนในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้ร่วมกันทำงานทบทวนความรู้ที่เกี่ยว ข้องกับจิตตปัญญาศึกษา โดยได้รับทุนสนับสนุนโครงการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผ่านไปยังศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ด้วยในช่วงเวลาของการริเริ่มนี้เราเชื่อว่าควรมีความรู้เป็นฐานรองรับ ดังที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านให้ความเมตตาแนะไว้ว่า หากจะกระทำการขับเคลื่อนเรื่องใด ควรได้ศึกษาวิจัยเรื่องนั้นให้รู้จบสิ้นดินฟ้ามหาสมุทร เพื่อจะได้ทำงานในส่วนที่เป็นคานงัด ทำน้อยแต่ได้ผลมาก หรือทำในส่วนที่ยังขาดพร่องอยู่

เราใช้กระบวนการแลกเปลี่ยนกันในกลุ่มและเข้าไปปรึกษาขอรับคำแนะนำจากปราชญ์ หลายท่าน โดยเฉพาะอาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ จนกระทั่งเริ่มเห็นแนวทางว่าควรจะทำงานศึกษาทบทวนใน 5 เรื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศจึงจะครอบคลุมภาพรวมและเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษา ต่อยอดในอนาคต ทั้ง 5 เรื่องนั้นประกอบด้วย 1. ประวัติแนวคิดและทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง 2. เครื่องมือและวิธีปฏิบัติในแนวจิตตปัญญาศึกษา 3. วิธีวิทยาการวิจัยสำหรับจิตตปัญญาศึกษา 4. การประเมินสำหรับจิตตปัญญาศึกษา และ 5. แนวทางการประยุกต์ใช้จิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ

งานวิจัยเชิงสำรวจครั้งนี้ทำให้เราได้ข้อมูลจำนวนมาก เราพบว่าแม้จิตตปัญญาศึกษามีความเคลื่อนไหวที่เริ่มในต่างประเทศมาไม่นาน ทว่าได้นำแนวคิดที่มีอยู่ร่วมกันในหลายศาสนาและความเชื่อมาใช้ในบริบทสังคม ร่วมสมัย วิธีการปฏิบัติก็ยังมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเน้นฐานกาย กิจกรรมเชิงพิธีกรรม การทำงานศิลปะ รวมทั้งใช้สมาธิและการสงบนิ่ง ล้วนแล้วเป็นการปฏิบัติที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้ ส่วนวิธีวิทยาการวิจัยก็มิได้จำเพาะต้องเป็นแนวทางหนึ่งใด แต่ควรได้บูรณาการผสมผสานให้เห็นความจริงจากหลากมุมมอง เช่นเดียวกับการประเมินที่มีจุดสำคัญคือการรู้เท่าทันและตระหนักในกระบวน ทัศน์ของตนเอง ตลอดจนการประยุกต์ใช้แนวคิดจิตตปัญญาศึกษาในวงการต่างๆ นั้นจึงมิใช่การปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากันได้กับบริบทเท่านั้น แต่เป็นการประยุกต์ที่มุ่งสู่การเรียนรู้จิตใจและเข้าใจตน

ในระหว่างกระบวนการวิจัยเราพบอุปสรรคและข้อจำกัดไม่น้อยเฉกเช่นเดียวกับการ ร่วมกันทำงานในหลายๆ อย่าง บางเรื่องเราอาจจะสามารถจัดการได้ด้วยวิธีสั่งการ หรือยึดเอาแผนการดำเนินงานเป็นหลัก ทว่าข้อมูลความรู้มากมายที่เราพบบ่งชัดว่าการพัฒนาจิตวิญญาณและปัญญาทั้ง หลายในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ผ่านการมีประสบการณ์ตรงของผู้ปฏิบัติ การทำงานวิจัยร่วมกันของเราจึงกลายเป็นพื้นที่เพื่อการฝึกฝนทางจิตตปัญญาของ ผู้วิจัยทุกคน เรานำเอาแนวคิดความเป็นผู้นำร่วมและความเป็นผู้นำผู้รับใช้ให้มาอยู่ในการทำ งานจริง แม้เรื่องดังว่านี้จะไม่ง่ายดายและคงไม่เห็นผลทันทีก็ตาม แต่อย่างน้อยเราต่างได้เรียนรู้อะไรผ่านประสบการณ์ตรงทีเดียว

ช่วงของการสรุปประมวลและสังเคราะห์ความรู้เป็นขณะเวลาที่น่าประทับใจ ทุกคนในคณะทำงานโครงการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประเด็นความรู้จากงานที่ ต่างคนได้ทบทวนศึกษามา แต่แรกดูเหมือนว่าจะหาข้อสรุปลงตัวที่ตรงใจให้แก่กันไม่ได้ เมื่อความเครียดครอบงำการทำงานเราจึงได้พลิกเปลี่ยนเข้าหาความผ่อนคลาย บทสนทนาสู่บทสรุปจึงเกิดขึ้นได้ในเนื้อหาเดิมเดียวกัน จากความคิดเล็กๆ หนึ่งก่อเกิด ความคิดใหม่ได้ต่อยอดและประกอบกันเข้าเป็นข้อสรุปในใจที่เราสามารถเห็นร่วม ตรงกัน เสนอประมวลความรู้จิตตปัญญาศึกษาให้เป็นโมเดลชื่อว่า “จิตตปัญญาพฤกษา” (Contemplative Education Tree)

องค์ประกอบของโมเดลนี้มีส่วนสำคัญ 8 ประการซึ่งสื่อถึงองคาพยพของต้นไม้ ได้แก่ 1. ราก คือที่มาและพัฒนาการของจิตตปัญญาศึกษานั้นอยู่ฐานแนวคิดเชิงศาสนา เชิงมนุษยนิยมและเชิงบูรณาการองค์รวม 2. ผล คือเป้าหมายการเรียนรู้สู่จิตใหญ่ที่กว้างขวางครอบคลุมและเชื่อมโยงถึงความจริงของสรรพสิ่ง 3. แก่น เป็นกระแสแห่งการพัฒนาสู่จิตใหญ่ ประกอบด้วย การมีสติเปิดรับประสบการณ์ตรงในปัจจุบันขณะอย่างเต็มเปี่ยม การสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะกับตน การน้อมมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจริงจัง ความเบิกบานและผ่อนคลาย และการมีจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง 4. กระพี้ เป็นบริบทของการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชุมชมหรือสังฆะสนับสนุน และการกลมกลืนกับวัฒนธรรม 5. เปลือก เป็นเครื่องมือและการปฏิบัติรูปแบบต่างๆ 6. เมล็ด เป็นศักยภาพการเรียนรู้ภายในมนุษย์ 7. ผืนดิน เป็นวงการต่างๆ ที่จะนำจิตตปัญญาศึกษาไปประยุกต์ใช้ และ 8. การปลูกและดูแล เป็นกระบวนการพัฒนาและทบทวนความรู้ ประกอบด้วยวิธีวิทยาการวิจัย และการประเมิน

ผู้ทรงคุณวุฒิและกัลยาณมิตรบางท่านได้เคยทักท้วงว่าโมเดลนี้อาจยังไม่ชัดเจน และเข้าใจได้ยาก ขณะที่เราคณะทำงานน้อมรับความเห็นต่างนั้น แต่เรายืนยันการนำเสนอโมเดลลักษณะนี้เพื่อชี้ว่าการเรียนรู้เพื่อพัฒนาจิต วิญญาณดังเช่นจิตตปัญญาศึกษาไม่ได้มีแบบแผนทิศทางคงที่ ตายตัว ไม่ได้เป็นกลไกลดทอนย่อส่วนหรือเชิงเส้น การเปรียบเปรยภาพของการเรียนรู้กับสิ่งมีชีวิตที่ไม่แยกส่วนและสัมพันธ์ ประสานกันจึงเป็นการอุปมาที่มีความมุ่งหมาย

อีกทั้งการเลือกใช้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษานำเสนอภาพแนวคิดจิตตปัญญาศึกษามิได้ ตั้งอยู่บนความต้องการปกป้องผลงานวิชาการ แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากกระบวนการทำงานอย่างเป็นผู้นำร่วมและการทดลองใช้ วิธีปฏิบัติตามแนวจิตตปัญญาศึกษาของคณะทำงาน เป็นกระบวนการที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ตรงและเชื่อมร้อยสัมพันธ์กับใจของ เราผู้ศึกษา ดังนี้แล้ว ความเห็นพ้องหรือความเห็นต่างต่อจิตตปัญญาพฤกษาอันสามารถนำไปสู่ความเข้าใจ และสนับสนุนการนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งสิ้น

เมื่อสิ้นโครงการนี้ เราเริ่มโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการโดยนำจิตตปัญญาพฤกษาเป็นโมเดลต้นแบบนำไป ใช้จัดการเรียนการสอนให้นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตลอดรายทางของชั้นเรียนและผลตอนท้ายของการศึกษาล้วนบ่งชี้ว่าการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาจิตวิญญาณหาใช่การวางแผนการสอนและจัดการเรียนไปตามแผนอย่างเคร่ง ครัด แต่ควรสร้างปัจจัยแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งการจัดกระบวนการและวิธีปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา ศิลปะ และการเจริญสติ พร้อมทั้งมีการเรียนรู้ อย่างสังฆะกัลยาณมิตรหรือชุมชนการเรียนรู้เป็นกระพี้โอบอุ้ม เมื่อผู้เรียนพร้อมเมื่อนั้นเขาจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานในตนเองและ ด้วยตนเอง

สำหรับเรา ผู้ซึ่งทำงานวิจัยทบทวนความรู้และได้นำไปทดลองปฏิบัติการ เราปรารถนาให้โมเดลจิตตปัญญาพฤกษาเป็นเครื่องเตือนให้ได้ระลึกอยู่เสมอว่า แม้การเรียนรู้ในแนวทางจิตตปัญญาศึกษานั้นจะไม่อาจคาดหวังและกะเกณฑ์ผลลัพธ์ อันแม่นยำจากผู้เรียนได้ แต่เราเชื่อมั่นได้อย่างแน่นอนว่าภายใต้การหมั่นสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อ อำนวยแล้ว การเติบโตทางจิตวิญญาณในกระบวนการเรียนรู้ย่อมจะเกิดขึ้นและดำเนินไปเฉกเช่น เดียวกับการเติบโตของชีวิตจากเมล็ดน้อยๆ สู่ไม้ใหญ่อันให้ความร่มเย็นแก่ผืนดินและสรรพชีวิตทั้งหลายในที่สุด

shelldom




โดย นพ.กิจจา เจียรวัฒนกนก
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2552

ผมอ่านงานแปลประวัติของ รูดอล์ฟ สไตเนอร์ ผู้ให้กำเนิดโรงเรียนวอลดอร์ฟ เรื่องราวของเขาน่าสนใจในหลายเรื่อง แต่ที่ผมประทับใจมาก เป็นเรื่องซึ่งเขามีปณิธานที่จะปลุกให้มนุษย์ตื่นรู้ถึงพลังที่มีอยู่ในตัวของแต่ละคน เขาใช้คำว่า “ขอให้ข้าได้เป็นผู้จุดเปลวไฟในหมู่มวลมนุษย์” การที่เขาได้บรรยายเพื่อให้คนได้ตระหนักถึงศักยภาพในการรู้แจ้งของตน ไม่ต่างจากปณิธานของพระโพธิสัตว์ ในวัตรปฏิบัติของเขาจึงแสดงถึงการศิโรราบอย่างไร้ตัวตน ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อผู้อื่นอย่างแท้จริง มีการยกตัวอย่างการปฏิบัติต่อผู้คนของสไตเนอร์ที่น้อมตนเองเพื่อรับใช้ความต้องการของผู้อื่นอยู่มากมาย เป็นการนำผู้คนผ่านการรับใช้โดยไม่นำความต้องการของตนเองมาบิดเบือน

พวกเราน้อยคนที่จะทำได้อย่างนั้น แต่วิถีปฏิบัติของสไตเนอร์แสดงถึงเป้าหมายสูงสุดของการเป็นผู้นำ นั่นคือนำมนุษย์ไปสู่การตื่นรู้ในศักยภาพของตนเอง จุดเปลวไฟในหมู่ผู้คนให้พวกเขาเห็นความสามารถที่จะจารึกการกระทำอันสร้างสรรค์ของตนเองให้กับโลก ผู้นำมองเห็นเมล็ดพันธุ์ที่มีอยู่ในตัวคน การนำด้วยการรับใช้ พวกเขาเป็นเหมือนดั่งชาวสวนที่ทะนุถนอม หว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ลงในแปลงเพาะ ดูแลให้เมล็ดพันธุ์ได้เติบโตเต็มศักยภาพ

ดังนั้นงานสำคัญประการแรกของผู้นำ คือการมองเห็นศักยภาพที่จะเติบโตทางจิตวิญญาณของผู้คน ผมใช้คำนี้อาจจะดูใหญ่โตเกินไป แต่หากมองให้ลึกซึ้งแล้ว คนที่ทำงานให้กับองค์กร ไม่ได้เพียงเงินค่าตอบแทน หรือตำแหน่งอำนาจใดๆ หากเมื่อเราลองถามตัวเองลึกๆ จริงๆ แล้ว เมื่อเราได้เงิน หรือตำแหน่งอำนาจนั้นๆ แล้ว มันได้เติมเต็มความปรารถนาลึกๆ อะไรบ้าง เมื่อได้เงินทอง บางคนอาจได้ใช้เงินเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว อันเป็นความปรารถนาร่วมกันที่จะธำรงรักษามนุษยชาติผ่านความมั่นคง ความผาสุกของครอบครัว อันเป็นหน่วยเล็กที่สุดของสังคม เงินสำหรับคนบางคนอาจเป็นการเติมเต็มความปรารถนาที่จะตอบแทนพระคุณบุพการี ตำแหน่งที่ได้รับอาจเป็นเพื่อทำให้เราได้ “สร้างความดีที่มากยิ่งกว่า” ให้กับสังคม หรือแม้กระทั่งเพื่อสร้างความยอมรับจากผู้อื่น แต่สุดท้ายแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงมีความปรารถนาที่จะมีดุลยภาพของการได้รับสนองความต้องการพื้นฐาน กับความต้องการที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งดีงามตามคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ

งานของผู้นำที่จะช่วยผู้คนให้มองเห็นศักยภาพในตนเองนั้น ต้องเริ่มต้นที่ตัวผู้นำเองมองเห็นสิ่งนี้ก่อน ทั้งในตัวเอง และผู้อื่น เหมือนกับชาวสวนมองเห็นต้นมะม่วงในเมล็ดมะม่วง ความสามารถหลักในการเป็นผู้นำ คือสามารถพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง จนมองเห็นศักยภาพในตนเองและผู้อื่นที่ไม่เคยมองเห็นมาก่อน ต้องเฝ้าดูตนเอง และผู้อื่นอย่างเนิ่นนานพอที่จะมองเห็นสิ่งนี้ เช่นเดียวกับที่เกอเธ่บอกไว้ว่า เมื่อเราเฝ้าดูสิ่งใดอย่างเนิ่นนานพอจนเกิดเป็นอวัยวะใหม่ในการรับรู้สิ่งนั้น

งานของผู้นำในประการที่สองคือ การเตรียมการเพื่อให้เกิดพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ผมชอบที่ ออตโต ชาร์มเมอร์ เขียนใน Theory U ถึงการเตรียมพื้นที่นาของตระกูลเขาว่า เป็นส่วนสำคัญของการเพาะปลูก พื้นที่ในการเรียนรู้ไม่ต่างจากที่นาสำหรับการเพาะปลูก คือต้องมีที่ว่างให้เมล็ดพันธุ์แห่งความรู้ได้งอกงาม และมีแร่ธาตุ ความชุ่มชื้นที่จะทำนุบำรุงให้เกิดการเรียนรู้ ผู้นำมีงานที่จะต้องสร้างให้สิ่งแวดล้อมในองค์กรมีโอกาสให้ศักยภาพของแต่ละคนเติบโต ให้พื้นที่แก่ผู้อื่นที่จะเรียนรู้ผ่านการทดลอง บำรุงพื้นที่นี้ด้วยข้อมูลข่าวสารและความสัมพันธ์ระหว่างกันในองค์กร งานในการเตรียมองค์กรให้พร้อมต่อการเติบโต เป็นการสร้าง “สนาม” ให้องค์กรด้วยการทำให้ข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ใครๆ ก็เข้าถึงข่าวสารได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสารความสนใจต่อข่าวสารนั้นแก่ใครก็ตามที่เห็นความสำคัญร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้เองที่จะสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ในองค์กร นำความมีชีวิตมาสู่องค์กร

ยังมีงานสำคัญอีกประการหนึ่งที่อาจเป็นงานในหน้าที่อันสำคัญที่สุดสำหรับผู้นำ ไม่ใช่การนำเพื่อบรรลุเป้าหมายตัวชี้วัดใดๆ ไม่ใช่การบรรลุผลกำไรสูงสุด ไม่ใช้การได้รับผลประกอบการดีที่สุด ไม่ใช่องค์กรที่เป็นเลิศ หรือการให้ใครมาติดป้ายว่าองค์กรของเขาเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่งานที่สำคัญที่สุดของผู้นำคือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับองค์กร แรงบันดาลใจที่จะทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรลุกขึ้นมาฟันฝ่าอุปสรรคใดๆ เพื่อทำให้การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นองค์กรของพวกเขาเป็นสิ่งซึ่งมีความหมาย ผู้นำมีภารกิจในการทำให้ชีวิตของคนในองค์กรเป็นชีวิตที่มีความหมายผ่านการทำงานร่วมกัน การทำงานเป็นการเพิ่มพูนความหมายให้กับชีวิตของคนในองค์กร หาใช่เป็นเพียงการเพิ่มผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น แต่เป็นการเพิ่มผลกำไรให้กับทุกชีวิตที่มีส่วนเกี่ยวพันกับองค์กร

ผู้นำต่างจากนักบริหารตรงนี้เอง ผู้นำรับใช้ต่อมนุษย์เพื่อทำให้สิ่งที่มีความหมายต่อมนุษย์เป็นจริงขึ้นมา เพิ่มพูนขึ้น และแบ่งปันซึ่งกันและกัน แต่นักบริหารส่วนมากเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ต่อกฎเกณฑ์ระเบียบ ต่อดัชนีชี้วัด และผลกำไร ต่อผู้มีอำนาจเหนือเขา และต่อผลประโยชน์ทั้งในส่วนของตนเองและองค์กร ไม่ว่านักบริหารจะนำองค์กรประสบผลสำเร็จตามดัชนีชี้วัดซึ่งท้าทายมากเพียงใด หากว่าล้มเหลวในงานของผู้นำทั้งสามประการแล้ว องค์กรก็มีสภาพไม่ต่างจากม้าที่ถูกเฆี่ยนให้วิ่งสุดกำลังตลอดเวลา ในไม่ช้าองค์กรหากไม่ล่มสลายก็จะมีสภาพอ่อนล้าจนไม่สามารถทำให้เกิดคุณค่าต่อผู้ใดได้อีกในที่สุด

shelldom




โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มกราคม 2552


หนึ่งในสามประเด็นเรื่อง “กล้าสอน” อันเป็นข้อสุดท้ายที่พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) พูดถึง คือ “เรื่องของวิธีการสอน” ในบทความเรื่อง “กล้าสอน (๑) และ (๒)” ผมได้พูดถึง หนึ่ง ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู สอง เรื่องขององค์ความรู้ ใน “กล้าสอน (๓)” ผมจะพูดถึงประเด็นวิธีการสอน ซึ่งผมคิดว่าพาล์มเมอร์กำลังพูดถึง “วิถี” มากกว่า “วิธี” และที่จริงเรื่องวิธีการสอนก็ไม่ได้แยกออกไปจาก “ตัวตนของครูและองค์ความรู้” เลย แต่การพูดถึงวิธีการสอนต่างหากออกมา โดยกลับไปเชื่อมโยงกับทั้งสองประเด็นก่อนหน้าบ้างนั้น จะมีมิติใหม่ที่ทำให้เราสามารถเห็นและเข้าใจกระบวนการสอนแบบนี้มากขึ้น

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับการโอบกอดคู่ตรงกันข้าม หรือธรรมชาติที่มีขั้วสองอย่างที่ขัดแย้งกัน หากแต่สามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ ภาษาอังกฤษเรียกว่า paradox ซึ่งคนที่สนใจพุทธศาสนานิกายเซนจะคุ้นเคยกับ “นัยยะขัดแย้ง” เช่นนี้ ยกตัวอย่างในวิธีการสอนโดยโอบอุ้มเวทีการเรียนรู้ พาล์มเมอร์ใช้คำว่า “open but charged” คือ ผู้นำพาการเรียนรู้จะสร้างพื้นที่เปิด แต่ในขณะเดียวกันก็ charged ด้วย อาจจะแปลว่า เปิดเหมือนไม่เปิด แต่ก็ยังเปิดอยู่ และสร้างแรงกดดัน คือ เพิ่มแรงเพิ่มความเข้มข้นเข้าไปในวงเปิดนั้น หรืออีกคำหนึ่งของพาล์มเมอร์ คือ “open but bound หรือ เปิดแต่ก็มีขอบเขต” นี่เป็นตัวอย่างของการนำแนวทางสองอย่างที่ฟังดูขัดแย้งกัน แต่นำมาวางคู่กัน อยู่ด้วยกัน

ปัญญาแห่งวิธีการสอนดังกล่าว เป็นปัญญาปฏิบัติ เป็นศิลปะ มิใช่เป็นสิ่งที่พอได้อ่านถ้อยคำอธิบายแล้ว แม้ไม่มีประสบการณ์มาเลย ก็ยังเอาไปทำได้ ไม่ใช่อย่างนั้นเด็ดขาด หากแต่จะต้องนำไปปฏิบัติ และอาจจะต้องเคยเห็นพื้นที่เปิดที่เต็มไปด้วยพลังอัดแน่นอย่างเข้มข้นมาก่อนด้วย การเรียนรู้แบบที่พาล์มเมอร์อยากให้เกิดในห้องเรียนนั้น เขากล่าวว่าต้องการสร้างสิ่งแวดล้อมและบรรยากาศของการตื่นรู้อย่างไม่ธรรมดาให้เกิดขึ้น เมื่อได้บรรยากาศเช่นนั้นแล้ว นั่นแหละจึงจะเกิดการเรียนรู้อย่างไม่ธรรมดา อันเป็นการเรียนรู้ที่แท้จริง ผมคิดถึงการตื่นตัวพิเศษด้วยจิตตื่นโพลง ด้วยจิตตื่นรู้ ที่ไม่เพียงผ่อนคลายและปลอดภัย แต่มากกว่านั้น จะทำอย่างนั้นได้ ไม่มีทางเลยที่ครูจะไม่นำพาตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้อง เกี่ยวพันอย่างทุ่มเททั้งตัว ตัวตนของครูต้องเข้ามา ต้องเปิดและอัดพลังเข้มข้นเข้ามาด้วย

ใน เวิลด์คาเฟ่ หนังสือเล่มหนึ่งของทีมเวิลด์คาเฟ่ ที่นำเสนอกระบวนการเรียนรู้แบบไดอะล็อค อย่างหนึ่ง จวนนิต้า บราวน์ (Juanita Brown)ใช้คำว่า “ทำซุปให้ข้น” ในวงการที่ศึกษาเรื่องสมองจะใช้คำว่า “Optimum Learning State” หรือ “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” ซึ่ง แอนนา ไวส์ (Anna Wise) ได้กล่าวถึงไว้ในหนังสือของเธออัน เกี่ยวกับคลื่นสมอง กล่าวคือใน “สภาวะการเรียนรู้ที่ดีที่สุด” นี้ คลื่นสมองจะทำงานพร้อมกันเต็มพิกัด ทุกคลื่น หมายถึงสมองสามชั้นจะทำงานร่วมกันเต็มพิกัด ก่อให้เกิดจิตตื่นรู้ อันเป็นที่จิตสามารถมองเห็นโลกภายนอกภายในพร้อมกันอย่างแจ่มชัด ทรงพลัง และมีพลังขับเคลื่อนเตรียมพร้อมที่จะเขียนโลกใบใหม่ โดยเขียนโลกภายในใหม่ พร้อมกันการสังเกตที่โลกภายนอกนั้นจะค่อยๆ คลี่บานยักย้ายเปลี่ยนแปลงไปตามโลกภายในที่เขียนขึ้นใหม่ กล่าวคือ การศึกษาที่แท้จริง เป็นการศึกษาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในตัวตน หรือในโลกภายในของผู้เรียน ซึ่งเมื่อโลกภายในเปลี่ยน โลกภายนอกก็จะแปรเปลี่ยนตามไปด้วยกัน

ถ้าเราเอา “ชุดความรู้แบบเก่า” เข้าไปจับ เราอาจจะพยายามถอดบทเรียนของครูชั้นเซียน ออกมาเป็นวิธีการสอน แล้วเอาไปให้ครูฝึกหัดลอกเลียนใช้กัน แต่แล้วมันจะออกมาไม่ได้ตามที่ครูชั้นเซียนเคยทำได้ เพราะนี่คือปัญญาปฏิบัติ หรือ ศิลปะ ซึ่งลอกเลียนจากภายนอกไม่ได้ ปัญญาปฏิบัติจะขึ้นต่อบริบทที่มีชีวิต ณ ขณะนั้นๆ ด้วย ความเข้าใจในกลุ่มคนที่เข้ามาเรียนรู้ร่วม บรรยากาศสภาพ แวดล้อม ธรรมชาติแวดล้อม ดิน ฟ้า อากาศ ระบบนิเวศ ใจคนที่เข้าร่วม ภูมิหลัง ความเป็นมาของผู้เข้าร่วม การตื่นโพลง ความรับรู้อันแหลมคมเป็นพิเศษของครูชั้นเซียนคนนั้น ทั้งหมดทั้งสิ้น นี่คือความหมายที่แท้จริงของปัญญาปฏิบัติ วิธีการสอนไม่ตายตัว หากแต่ไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยง ตลอดเวลา

สเตฟานี เพจ มาร์แชล (Stephanie Pace Marshall) หนึ่งในนักการศึกษาคนแรกๆ ที่พยายามหันเหระบบการศึกษาให้กลับมาใช้อุปไมยอุปมาของระบบชีวิต ได้กล่าวถึงมิติวิธีการสอนในระดับชุมชน โดยได้พัฒนาแนวคิด การสร้างสรรค์ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้อย่างก่อเกิด” เอาไว้อย่างน่าฟังในหนังสือ The Power to Transform: Leadership that brings learning and schooling to life (2006) โดยเธอได้กล่าวว่า

“ชุมชนการเรียนรู้อย่างก่อเกิดย่อมจะ

๑. เชื้อเชิญ พัฒนา และหล่อเลี้ยงศักยภาพอันมีอยู่อย่างหลากหลายในตัวเด็ก ในการสร้างความหมาย บูรณาการ สำรวจ ค้นพบ ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ และก่อให้เกิดปัญญา

๒. เชื่อมโยงเด็กกลับไปสู่โลกแห่งธรรมชาติ ชุมชน และครอบครัวของมนุษยชาติอีกครั้ง เช่นเดียวกับการเชื่อมโยงกลับไปสู่เอกภาพ องค์รวม การอิงอาศัยกันและกัน ความหลากหลาย ความสดใหม่ ตลอดจนการสรรค์สร้างของระบบชีวิตอันปราศจากขอบเขตจำกัด

๓. ให้เด็กได้กลับไปหมั้นหมายกับความร่ำรวยของชีวิตด้านใน อันได้แก่ อารมณ์ความรู้สึก ญาณทัศนะ จินตนาการ ความรัก ประสบการณ์ และจิตวิญญาณ เพื่อนำไปเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้

๔. หล่อเลี้ยงศักยภาพในเด็กแต่ละคน เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพขึ้นมาในชีวิตของตัวเอง อย่างชาญฉลาด และ “ร่วม” ก่อร่างสร้างอนาคตแห่งมนุษยชาติ ด้วยการพัฒนาศักยะแห่งการเผยออก หรือความสามารถในการสืบค้นความหมายจากแบบแผนต่างๆ การคิดเชิงระบบ การมองการณ์ไกล และสามารถกระทำการด้วยฐานแห่งจริยธรรม”

แล้วสำหรับวิธีการสอน หรือกระบวนการเขียนโลกใบใหม่ระดับสังคม เธอได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า

“ไม่มีช่วงเวลาไหนสำคัญเท่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะต้องปรับเปลี่ยนการรับรู้ใหม่ และออกแบบระบบโรงเรียนใหม่ ให้เป็นที่ซึ่งจิตใจ หัวใจ และจิตวิญญาณของเด็ก ตลอดจนอนาคตของมนุษยชาติจะได้รับการหล่อเลี้ยงให้เจริญงอกงาม อนาคตของมนุษยชาติจะถูกกำหนดขึ้นด้วยจิตของเด็ก ตลอดจนคุณภาพแห่งการดำรงอยู่บนพื้นพิภพของพวกเขาเหล่านั้น นี่คือเวลาแห่งการปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้ายออกจากกระบวนทัศน์แบบลดทอน สั่งการ และการทำอะไรให้เป็นมาตรฐานเดียวกันของระบบโรงเรียน นี่เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่เราจะสรรค์สร้างการเรียนรู้และระบบโรงเรียนอย่างก่อเกิด ซึ่งสนับสนุนเกื้อกูลชีวิต และเป็นเรื่องราวของเด็กเฉพาะแต่ละคนที่จะได้รับการปลุกเร้าให้เกิดจิตใจอันมีองค์รวม สุขภาวะ สั่นไหวด้วยคลื่นพลังอย่างกระตือรือร้น และกอปรไปด้วยปัญญา อันเป็นปัญญาที่จะหาหนทางอันเป็นธรรมชาติของตัวเอง ในการที่จะสร้างสรรค์อนาคตของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน ฉะนั้น การเล่าเรื่องเสียใหม่เช่นนี้ จะกลายมาเป็นแผนที่นำทางอย่างใหม่ให้แก่เรา”

shelldom




โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2551

ใน “กล้าสอน” ตอนที่สองนี้ ผมอยากพูดเรื่องของ “องค์ความรู้” ซึ่งเป็นหนึ่งในสามองค์ประกอบที่จะต้องคำนึงถึงของพาร์คเกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ คือ หนึ่ง องค์ความรู้ สอง วิธีการสอน สาม ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู “กล้าสอน” ตอนที่หนึ่ง ผมพูดถึงตัวตนของครูไปบ้างแล้ว จึงอยากพูดถึงองค์ความรู้ โดยจะเชื่อมโยงกับความคิดของพาล์มเมอร์ และเพิ่มเติมความคิดของผมที่ค้นคว้าทั้งจากที่อื่นๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองลงไปด้วย

ก่อนอื่นต้องเข้าใจสภาพที่เป็นอยู่เดิมก่อน ระบบโรงเรียนนั้นได้เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (เก่าหรือกระบวนทัศน์เก่า) และระบบอุตสาหกรรม โดยที่ระบบอุตสาหกรรมเป็นภาพสะท้อนของวิธีคิดแบบกลไก หรือการนำอุปไมยอุปมาแบบเครื่องจักรมาใช้ในการทำงาน ในการใช้ชีวิต การมองโลก และการจัดการกับโลก อุปมาอุปไมยแบบเครื่องจักรนี้ ได้คืบคลานเข้ามาในปริมณฑลขององค์ความรู้ และวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่ถูกลดทอนลงไปกลายเป็นเพียงการเรียนรู้แบบเครื่องจักรกล โดยมีระบบอุตสาหกรรมหรือระบบโรงงานเป็นต้นแบบ เราลองนึกถึงโรงงานผลิตปลากระป๋อง แล้วเราจะเข้าใจระบบโรงเรียนที่เป็นอยู่

พาล์มเมอร์ให้ความสำคัญกับคำว่า objective ซึ่งเป็นคุณศัพท์ ที่หมายถึงการมองสิ่งต่าง ๆ อย่างไม่เอาตัวเราเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจิตของเรา ตัวเราในที่นี้คือ subject หรือแปลอีกอย่างหนึ่งว่า “ประธาน” หรือ “ตัวตน” หรือ “ฉัน” นั้นเอง หากเอาฉันเข้าไปเกี่ยวข้อง การมองจะไม่เที่ยงตรง จะมีอคติได้ ต้องไม่เอาฉันเข้าไปเกี่ยว การมองนั้นจึงจะเป็น “ภววิสัย” คือ objective

แต่พาล์มเมอร์ก็ได้กล่าวต่อไปอีกว่า เดี๋ยวนี้วิทยาศาสตร์ใหม่หรือวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ เช่นในควอนตัมฟิสิกส์ เป็นไปไม่ได้อีกแล้วที่จะเป็นภววิสัย นักวิทยาศาสตร์ควอนตัม กล่าวกันอย่างสอดคล้องว่า ประธาน หรือฉัน (subject) ต้องเข้าไปเกี่ยวอยู่แล้ว ต้องเข้าไปหลอมรวมอยู่แล้ว ตัวประธานนี้แหละที่จะเข้าไปกำหนดความแตกต่างของการรับรู้ของเรา หากไม่เข้ามามองดูตัวตนนี้ เราจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์ถูกต้อง หรือเป็นไปไม่ได้เลยที่ประธาน (subject) จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง

ลองกลับมามองเรื่องนี้ผ่านปัญญาปฏิบัติดูบ้าง ในแบบฝึกหัดวอยซ์ไดอะล็อกของสามีภรรยาสโตน (ซึ่งเป็นดร.ทั้งคู่) ต้นฉบับเรื่องวอยซ์ไดอะล็อกนี้ เขาใช้คำว่า personal and impersonal เขาไม่ได้ให้ค่ากับอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างนี้มากกว่าอีกอย่างหนึ่ง แต่เขาเห็นว่าคำตอบอยู่ที่การนำส่วนผสมของทั้งสองมาใช้ร่วมกันอย่างกลมกลืนมากกว่า หลังจากผมได้นำเรื่อง personal and impersonal นี้มาทำแบบฝึกหัดหลายครั้งหลายหน จนเกิดปัญญาปฏิบัติ จนอวัยวะใหม่ (วงจรสมองใหม่) ก่อเกิดขึ้นมารับรู้ความนัยที่แฝงเร้น (tacit knowledge) อย่างแจ่มชัดขึ้นแล้ว ผมเห็นว่า personal หรือ subjective นั้นเป็นฐานใจ ส่วน impersonal หรือ objective นั้นเป็นฐานคิด ลักษณะเดียวกับซูมอิน ซูมเอาต์ด้วย คือ เมื่อใช้ฐานใจ เราจะมีความเป็นส่วนตัว (personal) เราจะเข้าไปใกล้ชิด หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับผู้คนหรือสิ่งของนั้น ๆ อันนี้คือซูมอิน และเมื่อซูมเอาต์ เราจะถอยห่างออกมามอง ไม่เอาตัวเข้าไปผูกพันหรือนัวเนีย แต่นำตัวตนของเราออกห่างออกมา อันนี้เป็น impersonal คือไม่เอาตัวเองเข้าไปพันพัว ถอยออกมา แยกออกมา (disconnect) แต่มันเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันแล้วนะ แล้วแยกออกมา มันจะได้อิสระบางอย่าง แต่ก็สูญเสียการต่อติด (connect) เป็นหนึ่งเดียวอย่างแนบในไปด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตามเราอาจเต้นรำสลับกลับไปกลับมา เพื่อเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา แล้วเชื่อมต่อ แล้วแยกออกมา การสลับไปมาอย่างนี้จะทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนครบถ้วนแง่มุมมากขึ้น หรืออันที่จริงแล้วสมองจะทำงานอย่างนี้เอง หากเราไม่ไปจำกัดกรอบให้มันจนเกินพอดี

อีกระดับหนึ่งของงานวิจัยสมองในเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นว่า สองพลังงาน สองศักยภาพ สองปัญญานี้ คือปัญญาจากฐานใจและปัญญาจากฐานคิด ที่จริงทำงานร่วมกัน แนบสนิทกันมากกว่าที่เราคาดคิด หรือ จากที่เรารู้ๆ กันอยู่ ในภาษาและปัญญาของยุคสมัย ที่จริง อารมณ์ หรือฐานใจ เป็นฐานของความคิดด้วยซ้ำ หากเราไม่เข้าใจฐาน จะเอาแต่ยอด เราจะมั่นคงได้อย่างไร เขาเทียบกับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ว่า อารมณ์เป็นซอฟต์แวร์ปฏิบัติการ (operating software) และความคิดเป็นตัวซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ ซอฟต์แวร์ใช้งาน (application software) อีกอุปมาอุปไมยหนึ่งจะมองว่า ความคิดเป็นข้อมูลหรือเนื้อหา อารมณ์เป็นการจัดแฟ้ม เป็นจัดเก็บ จัดที่ทาง (organizer) จะเห็นได้ว่า ทั้งสองเกี่ยวพันกันอยู่อย่างแนบแน่นแยกไม่ออกเลย

ความรู้ในประเด็นฐานคิดฐานใจนี้ จะเข้าไปเกี่ยวกับ “การจัดการความรู้” หรือ “Knowledge Management (KM)” ด้วย ผมคิดว่า จะเข้าใจเรื่องนี้ ต้องแยกแยะคำต่าง ๆ ที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการจัดการความรู้ เช่นคำว่า “ความรู้” กับ “ตำรับตำรา” คู่หนึ่ง และ “ความรู้” กับ “ปัญญาปฏิบัติ” อีกคู่หนึ่ง ซึ่งอาจจะต้องเขียนเป็นอีกบทความแยกออกไปกระมัง

สุดท้ายไม่ใช้ท้ายสุด การจะเป็นครูที่แท้ได้ เราต้องเชื่อมโยง เป็นหนึ่งเดียวกันกับความรู้ หรือองค์ความรู้ที่เราจะสอน ทุกปรัชญาจะให้ความสำคัญกับคู่หนึ่งของพลังงาน นั่นคือ “ปัญญาและความรัก” หรือ “impersonal and personal” ความรักทำให้เกิดความอยากเรียนรู้ และความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งใด หรือบุคคลใด ก็ก่อให้เกิดความรัก ที่สำคัญคือ ต้องเอาฐานคิดและฐานใจมาร่วมกันทำงาน พร้อมด้วยฐานปฏิบัติ หรือฐานกายด้วย จึงจะครบองค์เป็นสองสามชั้นของปัญญาสามฐาน และร้อยเรียงให้ทำงานประสานเสียงกัน มิใช่ปีนเกลียวขัดแย้งกัน

แต่อารยธรรมตะวันตก ที่เริ่มจากคริสต์ศาสนาปฏิเสธอารมณ์ความรู้สึก เอาเหตุผลมาเป็นตัวตั้ง เอาความเป็นภววิสัย หรือเอาฐานความคิดเข้ามาเพียงฐานเดียว เอาการมองเห็นที่พื้นผิว หรือรูปธรรมบางแง่มุมอันจำกัดเข้ามา (ชูมากเกอร์ จากหนังสือแผนที่คนทุกข์ของเขา บอกว่า วิทยาศาสตร์เก่าใช้ตาเดียวที่บอดสีเท่านั้น ก็แสวงหาสัจจะได้?) และเป็นความคิดแบบแผนเดียวอีกด้วย คือ ความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล (rational mind) แบบตรรกะเท่านั้น เราจึงแยกตัว แปลกแยกจากความรู้ของเรา เรารู้แบบไม่ได้สัมผัสความรู้นั้น ไม่ได้เป็นหนึ่งเดียวกับความรู้นั้น หรือความรู้นั้นไม่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองคาพยพของเรา ในเซลล์ของเรา ในอณูแห่งชีวิตของเรา หรือเป็นเลือดเนื้อของเรา ทางพุทธศาสนาใช้คำว่า “ปัจจัตตัง” หรือ “รู้ได้เฉพาะตน” อันนี้เป็นความรู้แบบอัตวิสัย (subjectivity) หรือไม่?

วิทยาศาสตร์เก่าบอกว่าอัตวิสัยพิสูจน์ไม่ได้ แต่วิทยาศาสตร์ใหม่บอกว่า ผู้สังเกตไม่อาจแยกตัวออกไปจากสิ่งสังเกต ไม่อาจแยกตัวตน ตัวคน หรือ consciousness คือ “จิต” ออกไปได้ เราแยกจิตออกไปไม่ได้จากการรับรู้ และเรียนรู้ด้วย แต่การรับรู้แบบอัตวิสัยนี้ มันมีมิติที่พิสูจน์ได้ โดย communal หรืออย่างเป็นชุมชน เนื่องจากการที่รับรู้ได้เฉพาะตนนั้น มันพอดีออกมาตรงกัน จึงเป็นความรู้ในทางธรรมที่พิสูจน์ได้อย่างนี้เอง เมื่อก่อน ภาพของนักวิทยาศาสตร์คือที่อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว ไร้อารมณ์ความรู้สึก บัดนี้ นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะเต็มเปี่ยมได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแล้ว ยังทำงานกันเป็นหมู่คณะอีกด้วย ซึ่งถอดความเป็นพุทธได้ในคำว่า “สังฆะ” หรือ “กัลยาณมิตร” นั่นเอง

พระพุทธเจ้าถามพระอานนท์พระอนุชาว่า “อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญอย่างไรกับพรหมจรรย์” พระอานนท์ตอบว่า “มีความสำคัญเป็นกึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์” พระพุทธเจ้าทรงแก้ไขให้ โดยเน้นย้ำให้ความสำคัญว่า “อานนท์ ที่จริงแล้ว กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์” ความในย่อหน้านี้ เกี่ยวพันกับความในย่อหน้าที่แล้วหรือไม่อย่างไร วิญญูชนโปรดพิจารณาเอาเองเถิด

shelldom




โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2551

The Courage to Teach หรือ “กล้าสอน” เป็นหนังสือที่ดีที่สุดไม่กี่เล่มที่ผมได้อ่านในรอบห้าปีนี้ เขียนโดย พาร์เกอร์ เจ. พาล์มเมอร์ (Parker J. Palmer) ซึ่งเป็นเควกเกอร์ (เควกเกอร์เป็นนิกายหนึ่งในคริสต์ศาสนาที่เข้าหาศาสนธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่มีนักบวช ไม่มีคนที่เป็นสื่อกลาง หากทุกคนเป็นฆราวาสที่อาจเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน และมีวัฒนธรรมภาวนาอันเรียบง่ายที่ดำรงอยู่ในชีวิตอย่างมีพลัง) หนังสือของพาล์มเมอร์เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในมหาวิทยาลัยนาโรปะ ครูของณัฐฬส (วังวิญญู) คนหนึ่งมีพาล์มเมอร์เป็นหนึ่งในครูสองคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขา

พาล์มเมอร์ยังทำเวิร์คชอป “กล้าสอน” โดยให้คนเข้าค่ายหลีกเร้นใคร่ครวญ เพื่อกลับมาสะท้อนย้อนใคร่ครวญร่วมกันในคณะครู เข้ามาทบทวนความหมายของการเป็นครู วิธีการสอน และที่สำคัญยิ่ง ตัวตนด้านในของครู พาล์มเมอร์พูดถึงองค์ประกอบ ๓ ประการในการเป็นครูที่ดี หนึ่ง คือ องค์ความรู้ สอง คือ วิธีการสอน สาม คือ ตัวตนของครู หรือโลกภายในของครู หรือคำของพาล์มเมอร์อันเป็นชื่อที่สองของหนังสือ “กล้าสอน” ของเขา คือ “ภูมิทัศน์แห่งโลกภายในของครู”

จากประสบการณ์ของพาล์มเมอร์เอง วิธีการสอนนั้นไม่ใช่เป็นประเด็นที่สำคัญนัก แต่ตัวตนของครูต่างหากที่เป็นเรื่องใหญ่ เขาเคยพยายามลอกเลียนครูของเขา ผู้มีพลังในการสอนมาก แต่ครูคนนี้กลับมีวิธีการสอนแบบอนุรักษ์นิยมธรรมดา คือ จะบรรยายอย่างยืดยาวเสียเป็นส่วนใหญ่ แทบจะไม่ทิ้งเวลาให้ถามตอบกันเลยด้วยซ้ำ แต่ครูกลับเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และเชื่อมโยงศิษย์เข้าสู่องค์ความรู้หรือวิชาที่จะสอนได้อย่างทรงพลัง เขาพยายามลอกเลียนครูทุกอย่าง แต่ผลคือความล้มเหลว กว่าจะรู้ว่าล้มเหลวเพราะอะไร ต้องเสียเวลาไปเป็นทศวรรษ ตอนหลัง เขาได้เปลี่ยนวิธีการสอน หากยังคงพลังอะไรบางอย่างของครูคนนี้ไว้ในท่วงทำนองการสอน เขาจึงพบ “มหาวิชา” แห่งการสอน และเขียนหนังสือออกมาหนึ่งเล่ม ทำหลักสูตรเวิร์คชอปให้ครูมาเรียนแปดครั้งๆ ละสามสี่วัน ในช่วงเวลาสองปี งานของเขาแพร่ขยายไปทั่วสหรัฐอเมริกา ๓๒ รัฐ สร้างกระบวนกร (วิทยากรกระบวนการ) ได้ถึง ๑๕๐ คน และเวลานี้ได้มีหลักสูตร “กล้านำ” เพิ่มเข้ามา เพราะสิ่งที่เขาค้นพบ มิใช่ว่าจะใช้ได้เฉพาะในแวดวงการศึกษาเท่านั้น

อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูเชื่อมโยงกับศิษย์ได้ และยังเชื่อมโยงศิษย์เข้าหาองค์ความรู้ได้อีกด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เควกเกอร์เป็นนิกายที่ลงลึกในเรื่องศาสนธรรม คนกลุ่มนี้นิยมสันติวิธีหรือสันติวิถี แม้ยอมตายแต่ไม่ยอมเข้าสงคราม คงเป็นเพราะฐานเดิมบางประการที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้วยใจอันใคร่ครวญ ทำให้ข้อสาม คือ การทำงานกับโลกภายในของครู กลายเป็นสิ่งสำคัญ ประเด็นสำคัญที่สุดประเด็นหนึ่งในหนังสือเล่มนี้

พาล์มเมอร์กล่าวว่า ทำไมเด็กนักเรียนจึงชอบครูคนใหม่ ที่เพิ่งจะมาเป็นครู หรือบรรดาพวกครูฝึกหัดทั้งหลาย ผมเองได้ใช้ประเด็นนี้เป็นประเด็นเริ่มต้นกับเวิร์คชอปที่จัดให้บรรดาครู ซึ่งผมทดลองมาแล้วสองเวิร์คชอป มันชวนให้ครูได้ไปใคร่ครวญอะไรบางอย่างว่า ทำไมเด็กจึงรักครูคนใหม่ของเขา คนที่เข้าร่วมเวิร์คชอปสรุปกันจากการสนทนาในเรื่องนี้อย่างละเอียดลออว่า ครูคนใหม่ยังไม่ได้เป็นครูอย่างครูเก่า ซึ่งจะมี “มาดของครู” ที่ซึ่งเด็กจะกลัว และมีอำนาจลี้ลับที่จะสะกดเด็กให้อยู่ในอำนาจได้ สามารถจัดการห้องเรียนได้เรียบร้อย คือ เด็กจะเคารพเชื่อฟังครู แต่ครูคนใหม่ยังไม่มีอำนาจนี้ ยังเป็นครูธรรมดาที่เปราะบาง อ่อนแอ บางทีจัดการนักเรียนไม่อยู่ก็ร้องไห้หน้าห้องเรียนนั้นเอง แต่แล้วเด็กจะรักและจะให้ความร่วมมือ ครูหลายคนที่มาร่วมเวิร์คชอปกับผมบอกว่า พวกเขาพากันรักครูคนใหม่ของเขา และเลยไปถึงรักวิชาที่ครูคนนั้นสอนด้วย

ตอนผมไปอยู่หมู่บ้านเด็ก ทำงานร่วมกับ พิภพ ธงไชย ในปีแรกของโรงเรียนแห่งนั้น อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ แนะว่า ให้ไปอยู่กับเด็กโดยไม่ต้องใช้อำนาจ มันทำให้ผมคิดถึงว่า อำนาจที่แท้จริงของครูคืออะไร? ไม่ใช่ไม้เรียว หรือคะแนน ผมได้ใคร่ครวญโจทย์ข้อนี้มาตลอดชีวิต แล้วผมก็ได้เป็นครูสมใจ หากแต่เป็นครูนอกระบบโรงเรียน ผมอาจจะพบคำตอบ แต่งานเขียนของพาล์มเมอร์ได้ทำให้คำตอบนั้นชัดเจน และเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

พาล์มเมอร์พูดถึงการเชื่อมโยงกับเด็กได้ แล้วนำพาเด็กไปเชื่อมโยงกับวิชาที่ครูสอน ซึ่งครูจะต้องเชื่อมโยงกับวิชาที่สอนด้วย ต้องเข้าหา เข้าถึงวิชาที่สอน จนองค์ความรู้นั้นๆ เข้ามาเป็นเลือดเนื้อของครูเอง ส่วนวิธีการสอน กระบวนการสอน ครูแต่ละคนอาจจะต้องหาทางเข้าหาความเหมาะสมลงตัว ยืดหยุ่นและผันแปรได้ตามความถนัดหรือตามอัตลักษณ์ของครูแต่ละคนเอง

พาล์มเมอร์พูดถึงครูคนหนึ่งที่อยู่ข้างใน (Inner teacher) ว่า เราต้องค้นหาครูภายในของเราให้พบ ในฐานะนักเรียนวอยซ์ ไดอะล็อค ผมคิดว่า ครูภายในที่ว่านี้ เชื่อมโยงอยู่กับเด็กน้อยผู้เปราะบางของ ดร. สโตน สองสามีภริยา (Dr. Hal & Sidra Stone) ทั้งสองได้กล่าวถึงสรรพคุณของเด็กน้อยผู้เปราะบางที่ดำรงตนอยู่ภายในเราไว้ว่า หนึ่ง เด็กน้อยมีความสามารถที่จะสนิทสนม เมื่อเราเปราะบาง เรายอมรับความอ่อนแอของเรา ความกลัวของเรา เหมือนกับว่าเรายังเป็นครูคนใหม่ตลอดกาล ใช่ไหม เป็นไปได้ไหม?

สอง เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ตัวตนดั้งเดิมของเรา (ผู้เข้าร่วมเวิร์คชอปบางคนได้โยงเข้ากับจิตเดิมแท้อันประภัสสร หรือเรืองแสง) ทำให้เรารู้ว่า เราต้องการอะไร ชอบอะไร ซึ่งอาจจะช่วยนำพาให้เราไปสอนในสิ่งที่เราสามารถเชื่อมโยงได้จนเป็นเลือดเนื้อและจิตวิญญาณของเรา จนกระทั่ง เราอาจจะสามารถเชื่อมโยงเด็กให้ไปเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ หรือปรัชญา และทำให้เด็กรักในสิ่งที่เรารักไปได้ด้วย

สาม เด็กน้อยผู้เปราะบาง คือ ผู้ที่ตื่นตะลึง ทึ่งกับทุกสรรพสิ่ง ทุกสรรพปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้า ตื่นตัวที่จะเรียนรู้ ด้วยสภาวะจิตที่พร้อมจะเรียนรู้สูงสุดอยู่ตลอดเวลา ที่เรียกกันว่า สภาวะจิต หรือสมอง ที่เราจะสามารถเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด (Optimum learning state)

สี่ เด็กน้อยผู้เปราะบาง ยังมีแผนที่ทางจิตวิญญาณติดตัวมา เมื่อเราเข้าไปแตะตัวเด็กน้อยในตัวเราได้ เราจะเห็น “แผนที่ทางจิต” นั้น ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychic fingerprint” ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไพเราะที่สุดในโลกคำหนึ่ง (คำของ ดร. สโตน เอง) และเราจะแจ้งใจซึ่งทางเดินแห่งจิตวิญญาณของเรา เราจะได้เห็นว่า ครูไม่ได้เพียงสอนวิชาเท่านั้น หากยังสอนมหาวิชา หรือวิชาว่า ด้วยการเติบโตด้านใน ด้านจิตวิญญาณอีกด้วย

shelldom

โดย ศ.สุมน อมรวิวัฒน์
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 22 มกราคม 2548

ข้อเขียนนี้มุ่งเน้นที่วิสัยทัศน์ หลักสูตร และการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยไทย ที่กำหนดทิศไปในทางสร้างองค์ความรู้ สร้างมาตรฐานและการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ผู้บริหารและคณาจารย์ทำงานหนักเพื่อพัฒนาสมองคือเชาวน์ปัญญา และพัฒนาความสามารถ (สองมือ) เพื่อให้ปฏิบัติงานในวิชาชีพนั้นๆ ได้อย่างดีเลิศ

แน่นอน การพัฒนามหาวิทยาลัยสู่ความเป็นเลิศ คือวิสัยทัศน์ที่เก๋ที่สุดในวงการอุดมศึกษาไทย

มีที่ มีทิศ และมีทาง บ้างหรือไม่ ที่มหาวิทยาลัยจะพัฒนาหัวใจของนิสิตนักศึกษาให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตอิสระ จิตอาสา ฝึกสติ พัฒนาปัญญาที่มีคุณธรรม และวัฒนธรรมเป็นฐาน

คนหนุ่มสาวและวัยรุ่นมิได้เป็นพวกใฝ่ต่ำ เลื่อนลอย เหลวไหล อย่างที่พวกผู้ใหญ่ค่อนว่าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขามีความดีงามอยู่ในใจอย่างมาก

แบบอย่างวิธีคิดของผู้ใหญ่และสื่อทั้งหลายต่างหากที่ชี้ทิศให้เขาเดินไปสู่ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม แข่งขันกันไขว่คว้าหาเงินและอำนาจไม่ว่าจะด้วยวิธีการที่ดีหรือเลว

นิสิตนักศึกษาหาหนทางที่จะสืบค้นเส้นทางชีวิตอันถูกต้องได้ยากเหลือเกิน จำนวนหน่วยกิตอันมากล้นไม่เหลือสำหรับการศึกษาให้รู้จักตนเองและรู้จักรักผู้อื่น คณาจารย์แต่ละวิชาพากันบ่นว่า เวลาและหน่วยกิตที่มีไม่พอที่ให้นิสิตรู้และเก่งได้ดังใจ

นิสิตนักศึกษาไม่มีทางเลือก กรอบหลักสูตรได้มัดเขาไว้อย่างเหนียวแน่น เธออยากจะไปเดินดูทุ่งนาป่าเขา อยากช่วยคนในสลัมข้างมหาวิทยาลัย เธอไปทำกิจกรรมเสริมหลักสูตร (ซึ่งดีแล้ว) แต่กิจกรรมเหล่านั้น มหาวิทยาลัยจะแยกใบรับรองไว้ต่างหาก จะเอามาปนกับหลักสูตรปรกติได้อย่างไรเล่า

เรื่องของการพัฒนาจิตใจ เป็นงานเสริม ไม่ใช่งานหลักของมหาวิทยาลัย แม้แต่คณาจารย์เอง ก็ไม่มีเวลาที่จะพัฒนาหัวใจของตน

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ ท่านพุทธทาสภิกขุได้เสนอแนวทางการพัฒนาจิตใจให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำธรรมะที่จะสอน ชื่อที่จะเรียก รูปที่จะสอน ความมุ่งหมาย วิธีสอน สถานที่สอน และครูผู้สอน ผู้เขียนจำได้ว่า พระคุณเจ้าเน้นวิธีสอน "ชนิดที่ให้เกิดความรู้สึก สามารถเปลี่ยนนิสัยสันดานของมนุษย์ได้จริง" ท่านเน้นบรรยากาศแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ควรมียูนิเวอซิตี เต็มเปิล

ในปีเดียวกันนั้น (พ.ศ.๒๕๐๔) หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล ได้เสด็จมาเป็น "เพื่อนคุย" กับนิสิตจุฬาฯ และใช้ธรรมะเป็นแนวทางให้คำปรึกษาแก่นิสิตที่มีความทุกข์

นิสิตสมัยนั้น จึงมีผู้ให้ "ทิศ" นำ "ทาง" และมี "ที่" สำหรับพัฒนาหัวใจ

การสร้างหัวใจให้แข็งแกร่งและอ่อนโยนนั้น ต้องไม่ใช้วิธีบังคับและไม่ใช้วิธีการเดียว กิจกรรมที่สร้างขึ้นในการฝึกอบรมจิตใจ ควรหลากหลายและเหมาะกับจริตของนิสิตนักศึกษา เริ่มซึมซับทีละน้อยตั้งแต่วันแรกเข้าจนวันสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย

คนหนุ่มสาวเมื่อถูกบังคับก็ยิ่งต่อต้าน มหาวิทยาลัยสามารถสร้างศรัทธาให้เกิดโดยจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม จัดดุลยภาพของหลักสูตรให้ครบทั้งวิชาการ คุณธรรม และวิชาชีพ มีวิชาเลือกเสรีที่มากพอ

คนหนุ่มสาวมีพลังและอารมณ์แรง ลู่วิ่งในสนามแข่งขันไปสู่เส้นชัยแห่งเงินและอำนาจนั้นแคบยิ่งนัก ถ้าเขาถูกเสี้ยมสอนให้วิ่งเร็วที่สุด เพื่อเอาตัวรอด ผลักไสเหยียบย่ำเพื่อนให้ล้มถลาออกนอกทาง ใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อยกตนให้เด่น ผู้เขียนมีตัวอย่างมากมายที่แสดงถึงแรงผลักดันดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะหาสังคมคุณธรรมได้อย่างไร

แม้คณาจารย์เองก็เช่นกัน ตั้งแต่ "จบ" การศึกษาปริญญาเอกแล้วก็จบกัน มีเวลาวิเคราะห์และพัฒนาจิตใจของตนเองบ้างหรือไม่ ถ้านิสิตนักศึกษาคือชีวิตของมหาวิทยาลัย คณาจารย์ก็คือ "ขวัญ" ของสถาบันนั้น

มหาวิทยาลัยกำลังเสียขวัญหรือเปล่า?

มีเรื่องล้อเล่นที่เป็นจริงว่า ภาควิชาหนึ่งมีคณาจารย์ ๑๒ คน จบปริญญาเอกทุกคน แบ่งพวกกันเป็น ๔ กลุ่มกับอีก ๑ คนที่เข้ากับใครไม่ได้ บรรยากาศในภาควิชาอึมครึมและเงียบเหงา ไม่มีใครอาสาสอนแทนอาจารย์ที่เกษียณอายุราชการ หัวหน้าภาควิชานั้นปวดหัวมากเวลาประชุม

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ห้องทำงานของผู้เขียนอยู่ติดทางเดินและใกล้ลิฟต์ ใจจะขาดเมื่อได้ยินเสียงนิสิตนินทาอาจารย์ และเพิ่มชื่ออาจารย์ให้เพี้ยนไปอย่างสนุกสนาน

เรื่องเหล่านี้มีอยู่ในทุกสถาบัน มหาวิทยาลัยกำลังทำอะไรอยู่

อันที่จริง โครงการดีๆ ในมหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่มาก เรามีโครงการบัณฑิตอาสาสมัคร มีวิชาบัณฑิตอุดมคติ มีศาลาธรรม ธรรมสถาน ฯลฯ ทุกมหาวิทยาลัย มีคณาจารย์และผู้บริหารที่ใฝ่ใจในโครงการเหล่านี้

เหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ ได้แสดงให้เห็นเนื้อแท้ทางจิตใจของคนหนุ่มสาวและวัยรุ่นที่อาสาช่วยงานบรรเทาทุกข์พี่น้องร่วมชาติอย่างน่าชมเชย แต่เราจะเรียนรู้จากเหตุการณ์วิกฤตอย่างเดียวไม่ได้ ทุกคนควรมีโอกาสฝึกฝนพัฒนาจิตใจของตนเองอย่างต่อเนื่องทุกเวลา

ความทุกข์และเพื่อนร่วมทุกข์มีอยู่ทุกหนทุกแห่ง บทเรียนของชีวิตไม่มีวันศึกษาได้จบ

ขอเวลาให้นิสิตนักศึกษาและคณาจารย์ได้ก้าวพ้นจากความเป็นทาสของวัตถุ ไปสู่มิติทางสุนทรียภาพ สัมพันธภาพ และมีจิตอิสระ

ขณะที่การอุดมศึกษาไทยกำลังปฏิรูปกันยกใหญ่ เพื่อพัฒนาวิชาการและงานวิจัยไปสู่ระดับเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก

ผู้เขียนจะเพ้อฝันไปหรือเปล่าว่าใน พ.ศ.๒๕๕๓ หรือ ค.ศ.๒๐๑๐ มหาวิทยาลัยทั่วโลกต่างพากันกำหนดระดับเทียบเคียง (benchmarking) ตามมหาวิทยาลัยไทยในด้านการพัฒนาบัณฑิตให้เป็นมนุษย์ที่มีจิตใจสูง

ตัวอย่างดีๆ มีอยู่แล้วในการศึกษาวิถีไทย มีดวงแก้วอยู่แล้วในกำมือ เราจะขว้างทิ้งแล้วมัวก้มลงเก็บก้อนกรวดอยู่หรือ

shelldom




โดย ธีระพล เต็มอุดม
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๑

สองสัปดาห์ก่อน นักศึกษาในชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ล้วนได้รับแรงบันดาลใจจากภาพและข้อมูลเกี่ยวกับบ้านขุนสมุทรจีน จ.สมุทรปราการ ที่ได้ผ่านตา เห็นสภาพของโบสถ์ที่ถูกคลื่นทะเลซัด ได้รู้ว่าชาวบ้านที่นั่นต้องย้ายบ้านมากกว่า ๔-๕ ครั้งในชั่วเวลาไม่กี่ปีเพราะพื้นที่ชายฝั่งหดหายไปอย่างรวดเร็ว สัปดาห์ต่อมา นักศึกษาทุกคนต่างช่วยกันติดต่อประสานและลงขันสมทบทุนกันให้ได้ไปเยือนยังชุมชนนั้น ส่วนหนึ่งเขาก็อยากจะเรียนรู้จากของจริงนอกห้องเรียน ส่วนบางคนก็มุ่งมั่นต้องการไปช่วยเหลือปลูกป่าชายเลนด้วยรู้สึกว่าชาวบ้านช่างเจอทุกข์หนักเหลือเกิน

เช้าวันนั้นป้าสมรผู้ใหญ่บ้านได้บรรยายบอกเล่าความเป็นมาของหมู่บ้านและสถานการณ์สิ่งแวดล้อมอย่างเรียบง่าย พร้อมชี้ชวนให้เราดูภาพถ่ายและเอกสารที่เกี่ยวข้อง เราทุกคนรับรู้ได้ถึงพลังของความมุ่งมั่นตั้งใจจากหญิงแกร่งคนนี้ที่ไม่ได้ทำเพื่อให้อยู่รอดเฉพาะหน้า แต่เพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคืออดีตแห่งความภาคภูมิของบรรพบุรุษ อนาคตความมั่นคงของลูกหลาน และภารกิจสำคัญของการพิทักษ์ผืนแผ่นดิน

ต่อเมื่อเช้าของการรับฟังและท่องชมสถานที่ต่างๆ ในหมู่บ้านผ่านไป หลังจากผู้มาเยือนได้เห็นความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชน ได้ยินคำบอกเล่าชีวิตจริงของการต่อสู้ และได้สัมผัสบรรยากาศจริงของโรงเรียนและวัดขุนสมุทรจีนซึ่งคงอยู่คู่กับชุมชนได้ด้วยพลังแห่งศรัทธาและความมุ่งมั่นแล้ว เมื่อย่างเข้ายามบ่ายได้เวลาที่พวกเราผู้มาเยือนเป็นฝ่ายมอบแรงกายช่วยปลูกป่าชายเลนบ้าง ต่างคนต่างตื่นเต้นและดิ่งเดินตรงไปบนสะพานคอนกรีตกว้างแค่พอสวนกันได้ เบื้องล่างลงไปร่วมสามเมตรนั้นเป็นผืนน้ำและโคลนเลน แหล่งเลี้ยงเพาะกุ้ง หอย ปลา ที่ทำกินของชาวบ้าน

ผู้เขียนในฐานะผู้ช่วยสอนซึ่งเดินรั้งท้าย ระหว่างที่ก้าวขึ้นไปบนสะพานยังได้ยินเสียงคุณป้าคุณลุงร้องบอกให้คณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ที่บังเอิญมาในวันเดียวกันรีบตามไปเก็บภาพการปลูกป่า ครั้นหันความสนใจกลับมาที่สะพานคอนกรีตตรงหน้า และก้าวเดินไปพักเดียวก็ต้องใจหาย เมื่อเห็นว่าทางคอนกรีตเบื้องหน้าหาได้เชื่อมต่อกันตลอด ช่องขาดหลายช่วงนั้นมีกระดานไม้วางเป็นสะพานพาดเชื่อมอยู่เป็นระยะ

แม้สะพานแรกๆ จะเป็นกระดานสี่แผ่นก็ตาม ยามที่เดินไปแล้วไม้ยวบยุบตัวตามน้ำหนัก ผู้เขียนก็เกิดกังวลวิตกต่างๆ นานา ห่วงสิ่งของสัมภาระในเป้สะพายหากเผลอพลัดหล่นไป แม้จะข้ามมาแล้ว ๔ สะพานก็ยังรู้ได้ว่าใจไม่ปกติ จังหวะที่ได้เดินบนสะพานคอนกรีตก็เหลียวไปสังเกตคณะถ่ายทำรายการซึ่งอยู่แต่ไกล หันหน้าชะเง้อไปดูนักศึกษาที่เดินไปแล้วก่อนหน้า พร้อมกลับมาปลุกปลอบใจตัวเองว่าอีกไม่นานหรอกคงจะถึงที่หมายแล้ว แต่สะพานกระดานไม้ก็ยังมีอยู่ต่อไป สะพานแล้วสะพานเล่า พร้อมกับขนาดที่เล็กลง จากสี่แผ่น เหลือสอง บ้างเหลือแค่หนึ่ง ซ้ำร้ายบางแห่งไม่มีราวไม้ไผ่ให้จับด้วย ถึงกระนั้นทุกคนก็ผ่านพ้นไปได้ ทั้งขาไปและขากลับ

เราจากลาผู้ใหญ่บ้านและชาวชุมชนมาเมื่อยามเย็น และใช้โอกาสระหว่างเวลาเดินทางบนรถบัสมาสะท้อนบทเรียนจากบ้านขุนสมุทรจีนในยามค่ำ ประเด็นแลกเปลี่ยนดำเนินไปอย่างออกรส ครอบคลุมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม โลกทัศน์และความเชื่อ ผู้เขียนตั้งประเด็นถามขึ้นว่าใครรู้สึกกลัวบ้างเมื่อต้องข้ามสะพานนั้น พร้อมเผยตรงไปตรงมาว่าสำหรับตนเองแล้วนั่นเป็นสถานการณ์น่าหวาดหวั่นอย่างยิ่ง แม้จะไม่แสดงออกให้คนอื่นเห็นก็ตาม ปรากฏว่าเพื่อนร่วมทางเกือบทั้งหมดยกมือยอมรับว่ารู้สึกกลัว

ความกลัวเป็นสิ่งที่เรามีร่วมกันต่อสะพานกระดานไม้นั้น หลายเสียงสะท้อนบอกตรงกันว่าชั่วขณะก่อนที่จะก้าวลงบนกระดานไม้ ความกลัวช่างมีอำนาจมากมายนัก มันทำให้เราจินตนาการล่วงหน้าว่าเราอาจได้รับบาดเจ็บ ต้องเลอะเทอะเปรอะเปื้อน ไปจนถึงละอายขายขี้หน้าคนอื่น มายาภาพเหล่านี้แม้ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง แต่ทำให้เราชะงักและลังเลขึ้นทุกครั้งได้

สำหรับผู้เขียนยิ่งประหลาดใจเมื่อย้อนมองกลับไปเห็นตัวเองว่า ยามที่กำลังลังเลว่าจะข้ามกระดานต่อไป ในใจก็เกิดเหตุผลขึ้นมาอ้างสารพัดว่าเพราะอะไรจึงควรจะไม่ไปต่อ ยิ่งได้เห็นคณะถ่ายทำรายการโทรทัศน์ล้มเลิกความตั้งใจและเดินกลับกลางคัน อาจเพราะต้องแบกกล้องตัวใหญ่หรืออะไรก็ตาม ยิ่งคิดเข้าข้างตัวเองมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้วมีความกลัวเท่านั้นที่เป็นตัวผลักดันไม่ให้ทำในสิ่งที่ได้ตั้งใจไว้ และยับยั้งไม่ให้เดินไปถึงจุดหมาย

พวกเราพบว่าสิ่งที่ควรกระทำในเวลานั้นไม่ใช่การระงับความกลัว แต่แค่ตระหนักและรู้ว่าเกิดความกลัว ไม่จมจ่อมอยู่กับมันจนหวั่นหวาดไปกับมายาภาพ หรือยกอ้างเหตุผลนานา เพราะสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ความกลัวหายไป มันเกิดเพราะเหตุต้องเดินบนทางที่ไม่คุ้นเคย เมื่อเราเดินข้ามกระดานไม้แต่ละช่วงมาได้เราก็พบว่าความกลัวมันหายไป แม้มันจะกลับมาใหม่เมื่อต้องข้ามอีก แต่เราก็ไม่ถูกมันควบคุมบงการโดยไม่รู้ตัวอีก

เช่นเดียวกันกับเรื่องราวต่างๆ ในชีวิต ดังเช่นการพูดในที่สาธารณะ ถ้าถูกความกลัวครอบงำจนขาดสติระลึกรู้เสียแล้ว เราก็จะขาดโอกาสได้ลองเป็นคนใหม่ เป็นคนซึ่งสามารถพูดในที่สาธารณะได้ แม้จะไม่ใช่นักพูดที่ดีเลิศ แต่สิ่งนี้จะไม่เป็นอุปสรรคในชีวิตที่เป็นดินแดนต้องห้ามของเราอีก เมื่อข้ามผ่านความกลัวไป ย่อมได้เปิดโอกาสไว้ที่ปลายทางนั้น

อาจารย์ประจำวิชาเล่าให้นักศึกษาและสมาชิกบนรถบัสฟังว่า “คนกล้าหาญไม่ใช่ว่าเขาไม่กลัว ทุกคนต่างก็มีความกลัวไม่มากก็น้อย การที่เราทำในสิ่งที่เรารู้สึกเฉยๆ การลงมือทำในสิ่งที่เราเองก็รู้สึกเกรงกลัวต่างหากที่เป็นความกล้าหาญ”

ผู้เขียนนึกถึงคำถามของตนที่ตั้งไว้ก่อนไปเยือนบ้านขุนสมุทรจีนว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ย้าย ซ้ำยังยืนหยัดต่อสู้ธรรมชาติแม้จะดูไม่มีความหวังนัก แล้วก็ได้คำตอบหนึ่งให้แก่ตัวเองว่า ชาวชุมชนก็คงหวาดกลัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่พลิกวิถีชีวิตของตนเช่นกันกับเราที่หวาดหวั่นการเดินข้ามสะพานกระดานไม้ แต่แทนที่เขาจะย้ายถิ่นฐานเลี่ยงไปประกอบอาชีพอื่น เขากลับปลุกความกล้าหาญขึ้นพร้อมเผชิญภัยเบื้องหน้า และก้าวต่อไปเขียนประวัติศาสตร์ให้ตนเอง

จากเดิมชั้นเรียนวิชาสิ่งแวดล้อมฯ ของเราตั้งใจจะไปเรียน ไปช่วย และให้กำลังใจชาวบ้าน แต่กลับพบว่าเราเป็นฝ่ายได้รับแรงบันดาลใจอย่างมาก เราได้เดินทางไปรับรู้และเข้าใจเขาอย่างที่เขาเป็น เราได้เข้าใจตนเองจากการเดินทางเข้าสู่ชีวิตด้านใน และเราได้ข้ามสะพานกระดานที่สอนว่า เรานั่นเองคือผู้เลือกข้ามความสะพรึงกลัวที่ตัวเราเองสร้างขึ้นเพื่อไปเปิดโอกาสใหม่ให้ชีวิตของเราได้


shelldom




โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ที่พรมแดนแห่งความรู้ ฉบับวันอาทิตย์ที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๙

ในสถานการณ์หนึ่ง แต่ละคนจะเรียนรู้ได้เร็วช้าต่างกัน ทว่าหากสถานการณ์เก่าภาวะเดิมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะใหม่ อาจกลายเป็นว่าคนที่เคยเรียนรู้ได้ช้ากลับสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สาเหตุเพราะว่าเราแต่ละคนนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถและรูปแบบในการเรียนรู้ได้แตกต่างกันในภาวะที่ต่างกันออกไป

การเรียนการสอนในห้องเรียนโดยปกติทั่วไป เรามักจะจัดแบบเหมาโหล เปรียบเทียบกับการตัดเย็บเสื้อผ้าก็คือ ตัดเสื้อขนาดเดียวแต่ให้ใช้สำหรับทุกคน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแบบที่ตัดคุ้กกี้ (Cookie cutter) เพราะมีพื้นฐานแนวคิดความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคน (อันเปรียบเสมือนคุ้กกี้แต่ละชิ้นที่ผลิตออกมาจากที่ตัดอันเดียวกัน) เหมือนกันหมดทุกประการไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความสามารถ หรือความสนใจ

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่าว่าแต่สำหรับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งหรือนักเรียนกลุ่มหนึ่งเลย ลำพังเพียงเราแต่ละคนก็ยังมีความพร้อมไม่เหมือนกันในการเรียนเรื่องเดียวกันในเวลาต่างกัน

การเรียนการสอนในปัจจุบันโดยมากนั้นเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบเดียว จึงต้องพยายามสร้าง “บทเรียน” อันมีลักษณะกลางๆ เหมือนกับสอนตรงค่าเฉลี่ย ให้ผู้เรียนส่วนใหญ่หรือผู้เรียนทั้งหมดในห้องเรียนพอจะรับได้ พอจะเข้าใจได้ บทเรียนหรือความรู้นั้นจึงต้องเป็นเรื่องราวเป็นชุดประสบการณ์ที่แบนๆ เรียบๆ ไม่ค่อยมีหลายมิติเท่าไหร่นัก ว่าด้วยเนื้อหาใจความสำคัญหลัก ทำให้รูปแบบของกระบวนการเรียนที่ปรากฏคือ มีผู้สอนยืนบรรยายเนื้อหาความรู้หน้าชั้น และผู้เรียนก็ได้รับประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือนั่งตาปรือ ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

สถาบันการศึกษาทั่วไปมักเป็นการนำเสนอบทเรียนที่มีลักษณะกลางๆ เป็นเนื้อหาความรู้ว่าด้วยเทคนิควิชาอันเป็นเรื่องนอกตัวผู้เรียน แต่ละวันถูกนำเสนอโดยไม่สนใจว่าผู้เรียนอยู่ในภาวะเช่นไร จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าความรู้ที่ได้มีความสัมพันธ์และสำคัญกับตัวเองแต่อย่างไร
แต่นั่นคือปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีต

ทิศทางและความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ของโลกยุคปัจจุบันมุ่งไปสู่การพัฒนาสมดุลของการเรียนรู้ภายนอกตัวกับในตัว กล่าวคือ หลอมรวมความรู้นอกกายนอกตัวเข้ากับการเรื่องรู้กายรู้ใจตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ได้ชื่อว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) โดยให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับภาวะและพื้นที่ของแต่ละคน
หนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาคือ คนเราแต่ละคนมีการเรียนรู้ต่างกันในภาวะที่ต่างกัน และภาวะที่ต่างกันนี้ก็เป็นความต่างจากมุมมองของความคุ้นเคยหรือความปลอดภัยของแต่ละบุคคลด้วย ภาวะดังว่านี้อาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ พื้นที่สบาย (comfort zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกคุ้นเคย ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายและปลอดภัย (“พื้นที่การเรียนรู้” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ทางกายภาพแต่อย่างเดียว อาจเป็นรูปแบบหรือลักษณะของกิจกรรมหรืออื่นๆ) ระดับต่อมาคือ พื้นที่เสี่ยง (risk zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกระแวดระวัง รู้สึกถึงความสุ่มเสี่ยง ไม่มีความคุ้นเคย แต่ยังถือว่าพอรับได้ และระดับสุดท้ายคือ พื้นที่อันตราย (danger zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกไม่มีความปลอดภัย

ในพื้นที่สบายนั้น ย่อมแน่นอนว่ามนุษย์เราสามารถเรียนรู้บางอย่างได้ดี แต่ก็มักจะเป็นความรู้คนละชุดกันกับความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่อันตราย การมีสติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงนี้เองจะทำให้เรามีโอกาสการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา หรือความเป็นตัวเราเอง

ฉะนั้น สำหรับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก คือการจัดสภาพแวดล้อมหรือบทเรียนที่แม้จะเป็นรูปแบบเดียว แต่มีหลายมิติ สภาพการณ์ดังว่าจึงเป็นภาวะที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน และภาวะที่ต่างกันทำให้มีความหมายต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยต่างคนก็สามารถออกแบบหรือจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเองได้อีกด้วย
ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมของ Earth Expeditions ซึ่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ที่สหรัฐอเมริกา ได้ส่งครูชาวอเมริกันสิบกว่าคนมาเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทางผู้จัดในไทย (ได้แก่ สถาบันขวัญเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว และมหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา (Contemplative Learning) เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

กล่าวคือ ในกระบวนการทั้งหมดเราได้สนับสนุนเชื้อเชิญให้ผู้เรียนได้มีสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับใจ อยู่กับความรู้สึกของตนเอง จากนั้นก็เชิญชวนให้แต่ละคนก้าวออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคยเดิม ตามที่ตนเองได้มีโอกาสเลือกเอง ไม่ควบคุมบังคับ
หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือการให้โอกาสแต่ละคนได้อยู่คนเดียวในป่าธรรมชาติที่ดอยเชียงดาว กิจกรรมนี้ได้เกิดผลต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ เรียกว่าอยู่กลางพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะสบายเลย ในขณะที่อีกหลายคนกลับรู้สึกว่าตนเองออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือภาวะเสี่ยงเต็มๆ เกือบจะพลัดเข้าไปสู่ภาวะอันตรายเสียด้วยซ้ำ แต่ละคนได้เลือกว่าออกไปไกลหรือนานเท่าใดจึงจะเป็นการออกจากภาวะหรือพื้นที่สบาย ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ใช่พื้นที่อันตราย (จนเกินไป)

ยิ่งกิจกรรมนี้ผนวกด้วยการเชิญชวนให้ไม่เอาอะไรไปทำในป่า เช่น ไม่เอาหนังสือไปอ่าน หรือไม่เอาบันทึกไปจด หรือไม่เอาอาหารไปกิน ... การอยู่ว่างๆโดยไม่ทำอะไรนี่ก็เช่นกัน เป็นเรื่องปอกกล้วยเข้าปากสำหรับบางคน แต่ถึงขนาดเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับคนอื่นๆ

สิ่งที่พบหลังจากแต่ละคนกลับออกมา หลายคนสะท้อนความเห็นออกมาอย่างไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมง่ายๆ เท่านี้จะทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง รู้จิตรู้ใจตัวเอง และเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น

shelldom




โดย ชลลดา ทองทวี

เครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา
คอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้ โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๙

บางครั้ง เราจะพบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในวิถีการดำเนินชีวิตที่เร่งรีบและกดดัน ซ้ำร้ายผู้คนรอบข้างยังล้วนแต่ดูเร่งรีบ พยายามรุดไปข้างหน้า เพื่อแสวงหาบางสิ่งบางอย่างอยู่ตลอดเวลา

คำถามที่ผุดขึ้นมาคือ เรากำลังตามหาสิ่งใด? ในวัยเด็กนั้น เรารีบเร่งไปโรงเรียนเพื่อเรียนรู้วิชา และเลื่อนระดับการเรียนรู้ขึ้นไปทีละขั้นๆ ในวัยหนุ่มสาว เราเรียนวิชาที่อยู่ในสายเฉพาะทางมากขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้ว เราคาดหวังว่าจะได้ทำงานด้านต่างๆ และได้รับค่าตอบแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อเลี้ยงชีวิต สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราตามหาอยู่จริงหรือ?

ลึกลงไป เราอาจจะกำลังตามหาบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่านั้น ไม่ว่าจะความรักความอบอุ่นจากความสัมพันธ์กับครอบครัว ความสัมพันธ์ในความเป็นเพื่อน ความสุขจากการได้ทำงานศิลปะ หรืองานที่เรารัก ความสุขจากความสงบเย็นภายในจิตใจ เป็นสันติสุขหล่อเลี้ยงชีวิตด้านใน

แต่การดำเนินชีวิตอันเร่งร้อนอย่างที่เราทำอยู่ทุกวัน ดูเหมือนจะเดินไปคนละทิศคนละทางกับความสุขภายในที่เราแสวงหาเหล่านั้น การทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพทำให้เราต้องวุ่นกับการงานอันยุ่งเหยิง ทำให้เรามีเวลาพูดคุยและดูแลคนที่เรารักน้อยลง ความบีบรัดและแรงกดดันทางเศรษฐกิจนี้ ทำให้เราไม่มีเวลาหยิบพู่กันขึ้นมาวาดรูปสักรูป หรือเขียนบทกวีสักบทอย่างที่อยากจะทำ บางคนกลับเลือกหนทางสร้างความสุขด้วยการซื้อหาสิ่งของมาครอบครองเป็นเจ้าของ แต่ก็เป็นความสุขเพียงชั่วแล่น และยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ต้องทำงานเพิ่มขึ้นเพื่อหารายได้ให้มากขึ้นไปอีก ความเครียดจากการงานทั้งหมดนี้ทำให้ความสงบเย็นภายในจิตใจเหือดแห้งไป

ดูเหมือนว่า ความกลัวที่จะสูญเสียความสุขทางกายวัตถุ เช่น การได้รับประทานอาหารที่เอร็ดอร่อย มีบ้าน มีรถขับไปไหนมาไหน ความกลัวที่จะเสียสิ่งเหล่านี้จะดึงเอาเวลาในชีวิตของเราไปเสียจนหมดสิ้น มันเป็นเหมือนเป้าหมายสำเร็จรูป และกลับกลายเป็นสิ่งที่เราเชื่อมั่นว่าจริง โดยไม่อาจตั้งคำถามได้
ผู้เขียนนึกถึงเรื่องของการเดินทางในวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “แฮรี่ พอตเตอร์” นึกถึงการก้าวทะลุผ่านกำแพงอิฐเพื่อไปขึ้นรถไฟ เพื่อมุ่งไปสู่การเรียนรู้ใหม่ของพ่อมดน้อยแฮรี่ ที่ชานชาลาหมายเลข ๙ ๓/๔ ภาพหรือสิ่งที่ตาเราเห็น คือกำแพงแข็งทึบที่ขวางกั้นอยู่เบื้องหน้า มันต้องอาศัยความเชื่อว่ามีอะไรที่ยิ่งใหญ่อีกมิติหนึ่ง นอกเหนือจากกายวัตถุที่เรายึดติดกันว่าเป็นจริง แฮรี่จึงจะก้าวทะลุพ้นกรอบเดิมๆ ที่กักขังชีวิตของเขาอยู่ออกไปได้

ชีวิตของคนเรา ยังมีอะไรที่มีค่ามากมายไปกว่าการพยายามบำรุงบำเรอร่างกายให้สุขสบาย ถ้าหากเรารับประทานอาหารน้อยลง แต่เรามีเวลา และมีความสุขมากขึ้น เราลองเดินเท้าบ้างแทนการขับรถ แต่ก็ทำให้เราทำงานน้อยลงและเจียดรายได้ไปจ่ายค่าน้ำมันน้อยลงด้วย เราก็น่าจะยังไปถึงจุดหมายเหมือนเดิม และยังดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่อาจมีความสุขมากขึ้นด้วย เราอาจจำเป็นต้องก้าวทะลุกรอบของกายวัตถุที่ขวางกั้นอยู่ เพื่อได้พบกับความหมายอื่นๆ ในชีวิตที่กำลังรอเราอยู่
เรื่องของกายวัตถุนั้นเป็นสภาพที่ดำรงอยู่ได้แค่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ เราเองไม่อาจจะยึดติดหรือหน่วงเหนี่ยวมันไว้ได้ ไม่ช้าก็เร็วเราคงต้องเผชิญกับความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นข้าวของในครอบครอง หรือผู้คนอันเป็นที่รัก รวมทั้งร่างกายของตนเองก็ต้องเสื่อมสลายไป

เรากำลังจะเดินชนกำแพงอิฐ ตรงที่ๆ น่าจะเป็นชานชาลาหมายเลข ๙ ๓/๔ เพราะเรากลัวจะบาดเจ็บหัวโนและไปไม่ถึงไหน มีเส้นบางๆ คั่นแบ่งอยู่ระหว่างความจริงทางวัตถุ และความจริงทางจิตใจ ความสุขทางใจที่เรามองไม่เห็นไม่ได้แปลว่ามันไม่มีอยู่ หรือด้อยคุณค่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราคงเคยได้ยินว่าคนร่ำรวยหลายคนกลับไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป เมื่อเขาขาดความสุข ขาดความรักในจิตใจ
เราต้องอาศัยความเชื่อที่ยิ่งใหญ่ ที่จะลองก้าวทะลุกำแพงแข็ง กำแพงที่ตีกรอบ และเป็นข้อจำกัดทางกายออกไปบ้าง และให้เวลากับชีวิตด้านในมากขึ้น

ไม่เช่นนั้น เราก็อาจเป็นแค่อีกคนหนึ่งที่ต้องต่อแถวเบียดเสียด แก่งแย่งกันขึ้นรถไฟที่ชานชาลาหมายเลขที่ ๙ หรือหมายเลขที่ ๑๐ เพียงเพราะว่า เรามองเห็นมันอยู่เบื้องหน้า และปิดอีกดวงตาหนึ่ง ซึ่งเป็นดวงตาด้านใน ดวงตาที่จะนำพาเราไปสู่การเดินทางที่มีความหมาย และเติมเต็มต่อชีวิตได้มากกว่านั้นมากมายนัก


shelldom




โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ
จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 20 มิถุนายน 2552

ถ้าหากเราถามครู นักเรียน หรือนักการศึกษาที่เป็นนักจิตวิทยาและนักศาสนปรัชญาว่า เราทั้งโลกต้องการให้ระบบการศึกษาของลูกหลานเรามีเป้าหมายอย่างไร? ระหว่างสติปัญญาความฉลาดที่เราใช้การสอบแข่งขันเช่นในปัจจุบัน? หรือว่าจะเอาทักษะพรสวรรค์ที่เด็กทุกคนย่อมจะมีศักยภาพแตกต่างกันไป? หรือว่าเราต้องการให้สังคมได้คนดีมีคุณธรรมในวันหน้า? ผู้เขียนคิดว่าถึงเถียงกันให้ตายไปข้างหนึ่งก็ยังสรุปไม่ได้ เพราะถูกทั้งหมด ระบบการศึกษาของเราในปัจจุบันถึงวนเวียนอยู่กับการปฏิรูปและปฏิรูปแล้วแต่ว่าพรรคใดเป็นรัฐบาลหรือว่าครูคนไหนเป็นใหญ่ในระบบการเรียนรู้ของเรา

จริงๆ แล้วน่าจะเอาทั้งสามมาเป็นหลักเท่าๆ กัน การเรียนรู้จากภายนอก (สองอย่างแรก) กับภายใน (อย่างหลัง) ย่อมจะดีที่สุด ประเด็นคือ เราจะหามาตรฐานระดับชาติหรือระดับโลกอย่างไร? หรือพูดง่ายๆ เราจะชี้วัดทั้งสามหลักว่าเท่าๆ กันด้วยวิธีไหน? บทความนี้เป็นการสะท้อนความคิดของผู้เขียนต่อรูปแบบสังคมที่เอาธรรมชาติ (ทั้งกายและจิต) กับความไม่เที่ยงหรืออนิจตาของมนุษย์และสังคมมนุษย์เป็นฐาน

ได้พูดได้เขียนมาหลายหนแล้วว่า ระบบการศึกษาของบ้านเรา - ที่ลอกเลียนมาจากประเทศตะวันตกทั้งแผง ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นของรัฐหรือเป็นอิสระแต่ในนาม รวมโรงเรียนและวิทยาลัยเอกชนแทบจะทั้งหมด – ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการกาย - วัตถุนิยมและแยกส่วน หรือกระบวนทัศน์เก่าที่ล้าสมัยของโลกตะวันตก ซึ่งอาจเหมาะสมกับช่วงเวลาเมื่อ ๑๕๐ – ๒๐๐ ปีก่อน ที่มองเห็นว่า “คุณค่า (หรือราคา) และความหมายของทุกสิ่งทุกอย่างนั้นอยู่ที่ว่า “มนุษย์” สามารถเอามาใช้ได้หรือเป็นประโยชน์หรือไม่เท่านั้น”

กระบวนทัศน์เก่าจึงหมดสมัยอีกทั้งผิดธรรมชาติมาแต่แรก จึงไม่สามารถจะแก้ไขหรือปฏิรูปอย่างหนึ่งอย่างใดได้ นอกจากการปฏิวัติถอนทิ้งทั้งรากทั้งโคน แล้วเปลี่ยนทั้งหมดสู่กระบวนทัศน์ใหม่ สู่กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตสำหรับปัจเจกชนและสังคมโดยรวมใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่ไม่ใช่การสมยอมประนีประนอมกันดังกล่าว (transformation, not accommodation) แต่ไม่มีผู้ใดในวงการศึกษาบ้านเรา จะฟังแล้วเอาไปคิด

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนหรือใครครองเมือง – ซึ่งบ้านเราเปลี่ยนกันบ่อยเหลือเกิน – จึงได้มีแต่การปฏิรูปซ้ำแล้วซ้ำอีกจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะทั้งหมดนั้น มีครูอาจารย์ นักการศึกษาที่ไปเรียนมาจากเมืองนอก หรือประเทศตะวันตกมากมาย บางคนได้ถูกนักการเมืองเรียกมาปรึกษาในช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หากแต่ละคนจะรู้จักอยู่แค่กับการปฏิรูปการศึกษา เพราะคิดว่ารูปแบบและเนื้อหาของการศึกษาที่เป็นอยู่ – เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจทุนนิยม - เป็นระบบที่ดีที่สุดสำหรับมนุษย์ที่ต้องเห็นแก่ตัว “กูก่อน” จึงเปลี่ยนไม่ได้ เพราะว่าประเทศตะวันตกที่เป็นเจ้าตำรับเอง ล้วนรู้จักแค่นั้น

ฉะนั้น แม้จะรู้ว่าระบบการศึกษาของตนมีปัญหาที่ต้องแก้ แต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เพราะพื้นฐานที่ระบบการศึกษาของตนและโลกตั้งอยู่ ล้วนแล้วแต่ตั้งบนหลักการกาย - วัตถุนิยมและแยกส่วน ซึ่งผิดธรรมชาติแห่งองค์รวม ซ้อนองค์รวม ซ้อนๆ องค์รวม ที่มีใยเยื่อประสานกันให้เป็นหนึ่งเดียว – ในรายละเอียด เราต้องไปพ้นหลักการกาย – วัตถุนิยมและแยกส่วน ถึงจะเห็นว่า ระบบการศึกษาของโลก รวมทั้งที่บ้านเรา ในปัจจุบัน ผิดธรรมชาติอย่างแรงถึง ๔ ประการ คือ

หนึ่ง มีศูนย์กลางที่มนุษย์ (anthropocentric) สอง ขาดความพอเพียง พอดี และยั่งยืน (unsustainable) สาม วัตถุประสงค์อยู่ที่เงิน ไม่ใช่เพื่อความรู้แท้จริง (money-based education) ซึ่งเงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมุ่งสร้างแต่ความเห็นแก่ตัว และผิดธรรมชาติยิ่งกว่าระบบการศึกษาเสียอีก สี่ ส่งเสริมอุ้มชูความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) ผิดทาง – โดยครูหรือโรงเรียนจะเน้นแต่วิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพเพียงอย่างเดียว เด็กจึงยังคงความเป็นสัตว์ แยกพรรคแยกพวกและก้าวร้าว

จึงคิดว่าเป้าหมายของการศึกษา ส่วนหนึ่งคือสนับสนุนความรุนแรง และเห็นแก่ตัวหรือการเอาตัวรอดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมีพื้นฐานตั้งอยู่บนวิวัฒนาการทางชีววิทยาหรือทางกายภาพกับจิตรู้เท่านั้น

ความคิดของมนุษย์ที่เห็นว่ามนุษย์ “ใหญ่” เหนือสรรพสิ่งใดๆ รวมทั้งสิ่งมีชีวิตหลากหลายนับล้านๆ สปีชีส์ ได้รับการตอกย้ำให้ก้าวร้าว ชอบความรุนแรง และแยกพวกแยกกลุ่มแยกส่วน ด้วยการสาธิตยุทโธปกรณ์ทางทหารมาตั้งแต่เยาว์วัย เราอาจจะคิดว่าโลกเป็นเสมือนยานอวกาศ โดยมีมนุษย์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวท่ามกลางเทคโนโลยีท่อไอและหลอดยางต่างๆ ดังที่ เอ็ดวาร์ด โอ วิลสัน เขียนกระแนะกระแหนคนที่ไม่เห็นความหมาย ไม่เข้าใจความสำคัญของระบบนิเวศและชีวิตอื่นๆ เผ่าพันธุ์อื่นๆ จึงสำคัญตนว่ายิ่งใหญ่กว่าฟ้าหรือหัวเราะเยาะเย้ยเหวยๆ ฟ้าเสียอีก นั่นคือ เทพ-กษัตริย์ (god-king) นั่นคือจักรพรรดิ นั่นคือซีซาร์ คือ ปโตเลมี คอนซีต (Ptolemaic conceit and anthropocentric) หรือความยิ่งใหญ่ของเด็กวัยรุ่นในระยะต้นๆ (idea of grandeur) ซึ่งตรงกันกับวิวัฒนาการของมนุษย์ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ของปัจจุบัน ที่แทบจะยืนอยู่กับที่ ไม่รู้จักเปลี่ยนแปลง ตามที่นักจิตวิทยาแทบทุกคนเชื่อเช่นนั้น

ในความเห็นของผู้เขียนคิดว่า วิวัฒนาการของจิตไม่ได้มีมูลเหตุจากกามารมณ์ในเด็กทั้งหมดและก่อเป็นปมด้อยปมเด่นในวันหลัง ดังที่ ซิกมัน ฟรอยด์ เชื่อ แม้แต่ปมอีดีปัส (Oedipus complex) ที่ฆ่าพ่อแล้วเอาแม่มาทำเมียเพราะไม่รู้ ก็ไม่ใช่ปมด้อยปมเด่นใดดังที่ฟรอยด์คิด แต่เป็นวิวัฒนาการทางจิตจากระดับมีธิค (mythic) ไปสู่ระดับตัวตนกับเหตุผล (self-rational) - อ่านได้จากหนังสือของ เคน วิลเบอร์ เล่มแรกๆ

ในทางระบบนิเวศ การศึกษาทั่วทั้งโลกในปัจจุบันนั้น มีแต่การปฏิรูปและปฏิรูป ปะโน่นปะนี่โดยฐานรากของระบบยังเป็นเช่นเดิม การเอาเด็กที่อยู่กับป่าฝนและภูเขามาให้เห็นป่าโกงกางและทะเลหรือในทางกลับกัน ไม่ได้ช่วยให้เด็กเข้าใจระบบนิเวศหรือธรรมชาติมากนัก หากเราไม่ได้คิดถึงความสัมพันธ์และพึ่งพากันของทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นคือการศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ได้คิดถึงความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม “อย่างเป็นระบบ” ทั้งๆ ที่เป็นระบบที่ทุกๆ สรรพสิ่ง “ทั้งหมด” เชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างที่แยกจากกันไม่ได้เสียด้วย

ผู้เขียนเชื่อว่า ธรรมะในศาสนาที่อุบัติขึ้นจากอินเดีย รวมทั้งพุทธศาสนานั้นมีความหมายส่วนหนึ่งอยู่ที่ธรรมชาติที่เราสัมผัสและรับรู้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยมีเรื่องของระบบนิเวศ (ecology) เป็นหัวใจซึ่งรวมมนุษย์และสังคมของมนุษย์เป็นส่วนเสี้ยวของข่ายใยแห่งชีวิต เป็นองค์รวมที่บูรณาการเป็นหนึ่งเดียวกัน กระบวนการเรียนรู้ที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐานและมีระบบนิเวศของโลกเป็นหัวใจนี้ ย่อมจะชักนำให้การศึกษาของเด็กไทยและทั่วทั้งโลกเปลี่ยนแปลง ทั้งมนุษย์โดยปัจเจกชนกับสังคมโดยรวมไปสู่สิ่งใหม่ วิถีใหม่ ที่ลึกล้ำ พอเพียง พอดี และยั่งยืน

ระบบการศึกษาของเรา มีเป้าหมายที่เงินหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะเหมาะสมกับสมัยที่ ธอมัส ฮอบส์ ไอแซค นิวตัน จอห์น ล็อค จอห์น สจ๊วต มิลล์ ฯลฯ ซึ่งมีทรัพย์สินส่วนตัวเป็นใหญ่ ทรัพย์สินที่เป็น “ของโลก” กลับกายเป็น “ของกู” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ระบบการศึกษาของโลกจึงกลายเป็นระบบที่รับใช้ทุนนิยมหรือทรัพย์สินความมั่งคั่ง เป็นไปเพื่อหางานทำหรือเงิน ส่วนความรู้เป็นแต่ผลพลอยได้เพื่อหลอกให้เด็กแข่งขันกัน เพื่อสอบผ่านให้ได้หรือเป็นผู้ชนะ การแข่งขันกันดังกล่าวจะเป็นประหนึ่ง “สุกเอาเผากิน” ที่ทำให้เด็กรู้เฉพาะเวลาใกล้สอบ โดยความรู้ที่เรียนมาตั้งหลายปี ส่วนใหญ่มากๆ ไม่ได้เป็นความรู้ที่เด็กต้องรู้เพื่อมีวิถีชีวิตอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมไปชั่วชีวิต

เรื่องของอารมณ์ด้านลบ เช่น ความก้าวร้าว อิจฉาริษยา ความขัดแย้งแตกแยกจนเป็นความรุนแรง หรือสงครามที่ไม่ได้แตกต่างกันโดยหลักการ ล้วนเป็นเรื่องที่เราทุกๆ คนได้ยินได้ฟัง หรือได้เห็นกันทุกวัน อย่างน้อยจากโทรทัศน์ซึ่งมีส่วนที่ไม่เหมาะสมกับเด็กในวัยเจริญเติบโตมากกว่าส่วนที่เหมาะสมยิ่งนัก แม้แต่กับผู้ใหญ่เองในระดับจิตที่มนุษย์ส่วนใหญ่มีอยู่ในปัจจุบัน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยโดยเฉพาะกับเด็กๆ ในวัยต่ำกว่า ๑๑ ขวบ

ทุกวันนี้มีการวิจัยมากมาย โดยเฉพาะการปฏิบัติสมาธิในเด็กกับความฉลาดทางอารมณ์ (EI or emotional intelligence) หลังจาก แดเนียล โกลด์แมน นักจิตวิทยาจากฮาร์วาร์ด ได้เขียนหนังสือเรื่องความฉลาดทางอารมณ์ขึ้นมาในปี ๑๙๙๕ ที่ขายดีมากๆ ถึง ๓ ล้านกว่าเล่มในช่วงสั้นๆ แดเนียล ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ครูและโรงเรียนสามารถสอนให้เด็ก – หากว่าเป็นหลักสูตรสำคัญในทุกวิชาการศึกษาของประเทศ – มีความฉลาดทางอารมณ์ได้และได้ดีเสียด้วย ซึ่งเมื่อเด็กได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว เขาจะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถเผชิญหน้ากับภยันตรายต่างๆ เช่น ความรุนแรง กระทั่งวิกฤตต่างๆ ได้ คือสามารถมีสติได้ในทุกเวลา สามารถจะควบคุมตัวเองได้ตลอดเวลา มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น และมีมนุษย์สัมพันธ์กับใครต่อใครในสังคมได้ดี”

พูดง่ายๆ โกลด์แมนบอกว่า การศึกษาความฉลาดทางอารมณ์มีแต่จะผลิตสร้างคนดีที่มีคุณธรรม รวมทั้งยังรู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งระบบในปัจจุบันไม่ได้เน้น ฉะนั้น มนุษย์จึงแสวงหาแต่เงินและอำนาจตามสันดานของ “ตัวกูของกู” หน้าที่นั้นมีสองอย่าง คือหน้าที่ต่อส่วนรวมที่ตนได้รับการมอบหมายมา (legal duty) ซึ่งมักมีเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทน เช่น ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ เป็นต้น กับหน้าที่ทางคุณธรรมหรือจิตใจ (moral duty) ที่ไม่มีอะไรตอบแทน แต่มักเต็มใจทำยิ่งกว่า เช่น หน้าที่ต่อพ่อแม่ซึ่งตามด้วยความรับผิดชอบเสมอ ทุกวันนี้อย่างแรกยังพอหาได้ แต่อย่างหลังหาผู้รู้หน้าที่พร้อมกับความรับผิดชอบจริงๆ ได้ยากมาก

พุทธศาสนาบอกให้เรารู้ว่า คนเราที่เกิดมาในโลกด้วยหน้าที่ หมายถึงจิตใจ และคุณธรรม จริยธรรมที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติ ซึ่งจะต้องมีความรับผิดชอบเป็นสร้อยห้อยท้ายเอาไว้เสมอ หน้าที่ทางจิตใจนั้น จะเป็นเรื่องของการกระทำหรือกรรมที่ทำในอดีต ซึ่งเราจะต้องรับผิดหรือรับชอบอย่างไม่มีทางหลบหรือหลีกหนีได้พ้น เพียงแต่ที่ภพภูมิไหนและเมื่อไหร่เท่านั้น เพราะว่าจิตนั้นไม่ได้ตาย หรือหายสาบสูญไปพร้อมๆ กับรูปกายที่เราเพียงยืมมาจากโลก ซึ่งต้องคืนกลับไปเมื่อไม่ใช้ทำอะไรอีก ตราบใดที่เรายังไม่ได้หลุดพ้นและยังคงอยู่ในวัฏสงสาร หรือโลกที่มีสามมิติ (บวกหนึ่ง) แห่งนี้