Pen
โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2552

งานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ “ทางเลือก หรือ ทางรอดของสังคม?” โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นงานที่ใช้กระบวนกร/วิทยากรมากที่สุดงานหนึ่ง นับรายชื่อศิลปิน นักปฏิบัติ นักคิด นักวิชาการที่ขึ้นเวทีสุนทรียสนทนา ปาฐกถา นำเสนอผลงาน จัดกระบวนการ ขับขานดนตรี อ่านบทกวี ในสองวัน ได้มากกว่า ๙๐ คน ต่างมาร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความหมาย รายละเอียด วิธีการ และรสชาติของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาตามความเข้าใจ ตามการใช้ชีวิตของตนเอง

งานประติมากรรมทางสังคมที่เกิดจากการถักทอเชื่อมร้อยการเดินทางของคนเหล่านี้ มีลักษณะ ร่วมกันที่สำคัญ คือ การช้าลง เข้าไปสัมผัสปัจจุบันขณะตรงๆ ผ่านงานผ่านการใช้ชีวิต ด้วยใจที่เปิดรับ และแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆ ร่วมกัน

หัวใจ คือ การไปพ้นจากความคิด




อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ระยะหลัง นานๆ จะปรากฏตัวต่อสาธารณะสักที มองเรื่องจิตตปัญญาผ่านมุมมองของวิภาษวิธี (Dialectic) เทียบเคียงกับความเชื่อทางพุทธ ว่าไม่ใช่เอา anti -thesis ไปท้าสู้กับ thesis แต่ต้องใช้ synthesis ซึ่งในตัวมันมีลักษณะที่ทั้งใช่และไม่ใช่ thesis และ anti-thesis อยู่ด้วยแล้ว

ต้องข้ามพ้นเครื่องมือเก่า คือ ความคิด ไปเสีย ดังนั้น “วิธีจัดการความขัดแย้งภายใน ไม่ได้ทำโดยการเอาความคิดเรื่องการไม่มีตัวตนไปสู้กับความคิดเรื่องการมีตัว ตน หากเอา ‘การไม่คิด’ เข้าไปแทนที่ ‘การคิด’ เสียมากกว่า”

งานนี้จึงอุดมไปด้วยผู้ที่มานำเวิร์คชอป จัดกระบวนการมากมาย แบ่งปันตัวอย่างช่องทางการเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ผ่านงานอันหลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม อาทิ การตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตน (โดยกลุ่มจิตตปัญญาวิถี สถาบันขวัญแผ่นดิน) การภาวนา (เสถียรธรรมสถาน) การจัดดอกไม้และใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ (มูลนิธิเอ็มโอเอไทย) จิตอาสา (เครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิพุทธฉือจี้) การรักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ (สถาบันปลูกรัก) และอื่นๆ อีกมาก

เวทีสุนทรียสนทนา หัวข้อ “กล้าที่จะเลือก” มีตัวอย่างของคนที่อยู่ทั้งในและนอกระบบ แต่ก็กล้าที่จะ “ขบถ” เลือกวิธีการเดินทางของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมันแตกต่างแปลกแยกจากมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานองค์กร มาตรฐานสังคม หรือแม้กระทั่งมาตรฐาน “สากล” ที่สถาบันต่างๆ มักวิ่งตามกันอยู่

“ยิ่งมีรายละเอียดในความคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความขัดแย้งในใจมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผมออกจากความคิด ... มาอยู่กับตัวเองง่ายๆ ไม่มีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับคนอื่น จึงไม่มีความขัดแย้งกับธรรมชาติ” อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เขียนหนังสือ เดินสู่อิสรภาพ สะท้อนประสบการณ์กล้าที่จะเลือก และกล้าที่จะหยุดเอาไว้ในวงสุนทรียสนทนานี้

แล้วชาวจิตตปัญญา กล้าที่จะเลือกหรือยัง?

ใน “ปัญญาสู่ทางรอด” เวทีสุนทรียสนทนาปิดงาน อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ อธิบายว่าปัญญาเพื่ออยู่รอดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายด้วย ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับฐานกาย (มวยจีน โยคะ ชี่กง) ฐานใจ (ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึก) นอกเหนือไปจากฐานคิด

“คนเรามีสมอง ใจ กาย แต่ทุกวันนี้เราหมดเวลาไปกับการคิด การเรียน” อาจารย์ฟันธงเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

อาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ประมวล และอาจารย์วรภัทร์ อาจารย์ทั้งสามได้มาดำรงอยู่ร่วมกันในเวทีแห่งนี้ ต่างคนก็ราวกับว่ามีวิถีของชีวิตที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน ทว่าลึกลงไปแล้วทั้งสามล้วนมิได้ผิดแผกแตกต่างกัน มีการเดินทางด้านในร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางที่เฉพาะตนไม่เหมือนกัน

ทุกคนล้วนเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณ และหนทางสายนี้ได้เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ (The path is the goal) อันมีหัวใจร่วมกัน

วันหน้าหากมีใครถามนิยามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ผมอาจจะตอบว่า “จิตตปัญญาเป็นวิชาสิ้นคิด” ไง :-)

Pen

โดย สรยุทธ รัตนพจนารถ

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552

ในชีวิตของคนเราล้วนเต็มไปด้วยคำถาม นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในเวลาเช้า เรานึกขึ้นในใจทันทีว่า “นี่มันกี่โมงแล้วนะ?” แม้ในระหว่างอาบน้ำแต่งตัวก็ยังไม่วายได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “วันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนสีอะไรดี?” จนช่วงเพลินๆ ระหว่างการเดินทางไปทำงาน ในใจพลอยคิดไปแล้วว่า “งานที่ยังทำค้างอยู่จะเร่งให้เสร็จทันวันนี้ไหม?” “เช้านี้จะส่งลูกไปทันเวลาไม๊นะ?” ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะสิ้นปี มักมีคำถามทำนองว่า “จะได้ขึ้นเงินเดือนสักเท่าไหร่?” หรือ “อนาคตการงานของเราจะไปได้ในในบริษัทนี้หรือเปล่า?” จนเย็นทำงานเลิกค่ำเรายังมีคำถาม “ทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไมกัน?” หรือบางครั้งก็เป็นคำถามที่มาตามสถานการณ์แต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตกลงจะซื้อบ้านดีไหม? โรคที่เป็นควรจะผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่น? ไปเรียนต่อดีไหม?



คำถามเหล่านี้ล้วนมีระดับความยากง่ายและความซับซ้อนของเรื่องราวต่างกันไป บางคำถามก็อยู่ในภาวะที่เราต้องตัดสินใจลงมือกับสถานการณ์ตรงหน้า บางคำถามเป็นแค่เรื่องที่ต้องคิดอย่างเป็นประจำทุกวัน เป็นคำถามที่ตัดสินใจตอบหรือเลือกแล้วก็จบกันไปในแต่ละครั้ง แต่ว่าบางคำถามกลับยังซุกซ่อนและวนเวียนในใจ และคำถามเช่นนี้ก็มีพลังในการผลักดันการตัดสินใจ การเลือกใช้ชีวิตของเราเอง

ในการฝึกอบรมด้วยกระบวนการแบบจิตตปัญญาซึ่งเน้นการมีสติ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ผมและเพื่อนกระบวนกรมักจัดกิจกรรม “คำถามสำคัญ” ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทบทวนว่า
อะไรคือคำถามสำคัญในการเดินทางของชีวิต อะไรคือคำถามที่ผลักดันหรือ drive ชีวิตเขา หรืออาจจะพูดได้ว่า ชีวิตของเขาที่ดำเนินอยู่นี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามอะไร

เมื่อทุกคนได้แบ่งปัน อ่านคำถามของตนทีละคน เราได้ยินทั้งคำถามที่ดูเรียบง่าย เช่น “ทำงานไปเพื่ออะไร” มีคำถามที่เป็นเรื่องของครอบครัว เช่น “ฉันจะดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร” “ลูกจะเป็นยังไงบ้างในตอนนี้” “ฉันจะหาสมดุลของชีวิตงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างไร” ไปจนถึงคำถามที่พยายามสืบค้นหาความหมายของชีวิต เช่น “อะไรคือความสุขของชีวิต” “เราเกิดมาทำไม” “เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราคืออะไร”

คำถามหลากหลายเหล่านี้ล้วนถูกเอ่ยออกมาจากปากของผู้คนทุกแบบทุกระดับนับแต่ ลูกจ้างชั่วคราว ครูอาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารผู้นำองค์กร แม้ถ้อยคำจะดูแตกต่างกันมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเราล้วนคล้ายคลึงกันเหลือเกิน สิ่งที่เราครุ่นคิดคำนึงถึงล้วนผูกพันกับชีวิตและการดำรงอยู่ของแต่ละคน อย่างยิ่ง

ช่วงเวลาการรับฟังคำถามสำคัญของเพื่อนร่วมองค์กร เพื่อนร่วมทางเดินชีวิตนี้ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม ทรงพลัง และน่าทึ่ง เราต่างร่วมเป็นประจักษ์พยานในการเผยถึงคำถามสำคัญในชีวิตของตน

แม้ว่าการอบรมหลายครั้งจะมีผู้เข้าร่วมมาจากองค์กรเดียวกัน มีความคุ้นเคยกันดี แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เราทุกคนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้งในมิติแง่งามที่ หลากหลายต่างกันและทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นไปทุกครั้ง ได้เข้าใจกันว่าทำไมแต่ละคนถึงเป็นเช่นนั้น และไม่เพียงรู้จักผู้อื่น เรายังได้รู้จักตัวของเรามากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากคำถามสำคัญในชีวิตของเรานี้เอง

หลังจากนั้น ผมมักอ่านตัวอย่างคำถามสำคัญในชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากชั้นเรียน ที่ผมใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่น “จบแล้วทำอะไร ไปไหน?” “ทำไมถึงต้องมานั่งเรียนหนักขนาดนี้ ผลักดันตัวเองไปทำไม?” “สิ่งที่เราเลือกและทำจะเป็นที่พอใจของพ่อแม่รึป่าว?” “ทำอย่างไรชีวิตถึงจะมีความสุข?” เราเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนไม่ว่าคำถามของคนในวัยทำงานหรือคำถามของนักศึกษา ก็ไม่ต่างกัน
ไม่มีคำถามไหนที่ผิด เล็กเกินไป ไม่มีความหมาย หรือไม่มีความสำคัญ ล้วนเป็นคำถามที่ “จริง” ทั้งสิ้น

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่มีความหมาย ผู้เรียนให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากไปโรงเรียน อยากไปมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษารักและตั้งใจในการเรียน ก็ต่อเมื่อการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่ทำให้เขาเพียงแค่เรียนเพื่อสอบ

งานจะเป็นงานที่มีความหมาย คนทำงานให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นแล้วอยากไปที่ทำงาน ทำให้เขารักและตั้งใจในการทำงาน ก็ต่อเมื่องานนั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาเช่นกัน ไม่ใช่ทำให้เขาทำงานเพียงเพื่อหาเงินเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้และการทำงานแบบจิตตปัญญาที่มีความหมาย จึงต้องเป็นกระบวนการที่เข้าไปดูแล (address) มีความสัมพันธ์ (relate) เชื่อมโยง (connect) หรือทำความชัดเจน (clarify) ให้แก่คำถามสำคัญที่ผลักดันการดำเนินชีวิตของเรา ... แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญของเราในตอนนี้ก็ตาม

Pen